Last updated: 14 ก.พ. 2561 |
ถ้าพูดถึงห้างสรรพสินค้าที่ใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ ห้างเมกาบางนาอาจเป็นที่แรกที่ทุกคนนึกถึง มีพื้นที่ใช้สอยกว่า 400,000 ตารางเมตร และพื้นที่จอดรถกว่า 8,000 คัน (แต่น่าจะเพิ่มแล้วเพราะปัจจุบันเพิ่งเปิดโซนใหม่) รวมถึงในปี 2017 ที่ผ่านมา มีผู้คนเข้ามาจับจ่ายใช้สอยที่ห้างสรรพสินค้าแห่งนี้ถึง 42 ล้านคน ซึ่งแน่นอนว่ากำลังการจับจ่ายของคนกว่าค่อนประเทศนี้ทำให้เมกาบางนามีเงินสะพัดในแต่ละวันมหาศาลมา
แล้วรู้หรือเปล่าว่าใครเป็นเจ้าของห้างเมกาบางนา ?
ห้างเมกาบางนานั้นเปิดตัวเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2012 ภายใต้การร่วมทุนของสามบริษัท
1 บริษัท อิค่าโน่ (ประเทศไทย) จำกัด หรือที่เราคุ้นหูในชื่อ "อิเกีย" ถือหุ้น 49%
2 บริษัท เอส พี เอส โกลเบิ้ลเทรด จำกัด หรือ "ส.ประภาศิลป์" ฐานการผลิตของเฟอร์นิเจอร์อิเกีย ถือหุ้น 2%
3 บริษัท สยามฟิวเจอร์ ดีเวลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือหุ้น SF ถือหุ้นอยู่ 49%
นั่นแปลว่า บมจ.สยามฟิวเจอร์ หรือ SF มีสัดส่วนความเป็นเจ้าของในห้างเมกาบางนาถึงเกือบครึ่ง และหากเราดูงบการเงินปี 2017 ที่เพิ่งออกมาเมื่อวาน จะพบว่ารายได้จากห้างเมกาบางนา (และห้างอื่นๆ อีกเป็นส่วนน้อย) คิดเป็นสัดส่วนถึงเกือบครึ่งหนึ่งของรายได้ทั้งหมด โดยรายได้ในส่วนนี้จะถูกบันทึกเป็น "กำไรจากการร่วมค้า" ซึ่งในปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 1,458 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปีก่อนซึ่งรายได้บรรทัดนี้อยู่ที่เพียง 500 ล้านบาท ก็นับได้ว่าเพิ่มขึ้นสูงมาก แต่เนื่องจากในปีนี้ SF มีกำไรจากการปรับมูลค่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อการลงทุน (ซึ่งก็คือห้างเมกาบางนา) ประมาณ 800 ล้านบาท หากหักลบกันแล้วกำไรจากการร่วมค้าจะหล่นมาเหลือประมาณ 658 ล้านบาท ซึ่งก็นับว่ายังสูงอยู่หากเทียบกับรายได้รวมทั้งหมดของบริษัท
ราคาหุ้น SF ที่ยังทำจุดสูงสุดใหม่อย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับผลประกอบการที่ดีขึ้นของบริษัท
ห้างนี้นอกจากจะใหญ่เป็นอันดับต้นๆ แล้ว ยังสร้างรายได้เป็นอันดันต้นๆ ให้กับ SF ด้วย
แต่แม้จะยิ่งใหญ่ขนาดไหน ห้างสรรพสินค้าก็ยังถูก disrupt จากเทคโนโลยีได้ อย่างที่เห็นกันตามสื่อต่างๆ ว่าห้างสรรพสินค้าในต่างประเทศพากันปิดตัวอย่างมหาศาล เพราะถูกแทนที่ด้วยการช๊อปปิ้งออนไลน์อย่าง Amazon
แล้ว SF จะทำอย่างไรในวันที่คนมีสิทธิ์นอนอยู่บ้าน มาห้างน้อยลงเพราะขี้เกียจเดินทาง
"เมกาซิตี้" จึงเป็นคำตอบ ในเมื่อคนไม่มาห้าง เราก็สร้างเมืองรอบๆ ห้างให้คนมาอยู่ซะเลย
เมกาซิตี้นั้นจะประกอบด้วยโรงแรม อาคารสำนักงาน โรงเรียน สวนสาธารณะ คอนโดมิเนียม และอื่นๆ อีกมาก ซึ่งในตอนนี้ที่ดำเนินการไปเกือบ 100% แล้วก็คือคอนโดมิเนียมของอารียา (ตัวย่อหุ้นคือ A) ที่นับได้ว่าเป็นการจับคู่ทางธุรกิจกันได้อย่างลงตัว เพราะคนรุ่นใหม่ก็กำลังมองหาที่อยู่อาศัยนอกเมืองมากขึ้นเนื่องจากค่าเช่าที่ถูกกว่า และห้างสรรพสินค้าเองก็ได้ประโยชน์จากการย้ายคนให้มาอยู่ใกล้ห้างมากขึ้น
ภาพจำลองของ Mega City เมื่อแล้วเสร็จทั้งหมด ขอบคุณภาพจาก https://brandinside.asia/mega-bangna-to-mega-city-mix-use/
นอกจากนี้ โรงแรมที่มีแผนสร้างบริเวณรอบๆ เมกาซิตี้ ก็ถูกสร้างขึ้นเพื่อรองรับคนจำนวนมหาศาลจากสนามบินสุวรรณภูมิซึ่งอยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลกันนัก ห้างเมกาบางนาก็ได้จะได้รับประโยชน์จากจำนวนคนที่เพิ่มขึ้นด้วย นี่ยังไม่นับรวมถึงโครงการบ้านเดี่ยวหรือคอนโดมิเนียมอื่นๆ ที่กำลังมีคนย้ายเข้ามาอยู่อาศัยอีกเรื่อยๆ
และเมื่อคนเข้าห้างมากขึ้น ทั้งอิเกียและบริษัท SF ก็มีกำไรมากขึ้นเช่นกัน ต้องยอมรับในความชาญฉลาดของพาร์ทเนอร์ทั้งหมดที่สามารถแก้โจทย์นี้ได้ ในเมื่อการหาคนเข้าห้างยากขึ้น ก็สร้างคนให้อยู่รอบๆ ห้างให้มากที่สุด
เหมือนกับโอกาส ที่หากมันไม่มี เราก็สร้างมันขึ้นมาได้ แค่ลองพลิกโจทย์ใหม่เท่านั้นเอง
-เอก-
แหล่งอ้างอิง
FFTC200 : คอร์สประเมินมูลค่าหุ้นที่เข้มข้นที่สุดในประเทศไทย ผู้สอนจากรายการ Money Talk
“เมกาบางนา” แปลงร่างสู่ “เมกาซิตี้” สร้างเมืองมิกซ์ยูสกินรวบโซนบางนา : https://brandinside.asia/mega-bangna-to-mega-city-mix-use/
อยากรู้ไหมห้างไหนใหญ่ที่สุด ! ส่อง 5 ห้างยักษ์ใหญ่ หรูหรา มหึมาถึงขีดสุด : https://www.thairath.co.th/content/516137
งบการเงินรายปี 2560 (ตรวจสอบแล้ว) : https://www.set.or.th/set/newsdetails.do?newsId=15185655640613&language=th&country=TH
คำอธิบายและวิเคราะห์ของฝ่ายจัดการ : https://www.set.or.th/set/pdfnews.do?newsId=15185655641171&sequence=0