Last updated: 18 ก.ย. 2561 |
การประเมินมูลค่าหุ้น นั้นหมายถึงการหาว่าหุ้นตัวหนึ่งมีมูลค่าที่แท้จริงของมันคือเท่าไหร่ แม้ตอนนี้ราคาหุ้น PTT จะอยู่ที่ 50 บาท แต่ถ้าลองวิเคราะห์จากทั้งสภาพธุรกิจ งบการเงิน และความสามารถของผู้บริหาร เราอาจพบว่าหุ้นตัวนี้มีศัยกยภาพในการทำกำไรได้อีกมาก และถ้ามีกำไรมากขึ้น ราคาหุ้นก็มีโอกาสเพิ่มขึ้น หรือในทางกลับกัน ถ้าบริษัทนี้สูญเสียความสามารถในการแข่งขัน กำไรก็อาจลดลง และราคาหุ้นก็มีโอกาสลดลงได้ นี่คือการประเมินมูลค่า
ดังนั้น หากนักลงทุนสามารถวิเคราะห์หุ้นตัวนั้นได้อย่างถูกต้อง ก็เท่ากับว่าเราจะเห็นโอกาสที่คนอื่นไม่เห็น จนสามารถทำเงินจากการลงทุนนั้นได้ จึงมีหลายคนที่ทั้งเข้าสัมมนา อ่านหนังสือ เพิ่มพูนความรู้ต่างๆ เพื่อให้มีความรู้เรื่องการหามูลค่าที่แท้จริงของหุ้นมากขึ้น แม้แต่หนังสือการประเมินมูลค่าหุ้นของสำนักพิมพ์เราเอง มองแบบผ่านๆ ก็อาจคิดว่าเจ้าสิ่งนี้จะช่วยให้เราวิเคราะห์ได้เก่งขึ้น
แต่โลกแห่งความจริงไม่ได้ง่ายขนาดนั้น การประเมินมูลค่าหุ้นยังสามารถผิดได้เสมอแม้จะใช้วิธีการที่ถูกต้องก็ตาม ซึ่งในบทแรกๆ ของหนังสือการประเมินมูลค่าหุ้น คุณ Aswath Damodaran นักการเงินชาวอินเดียผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ ได้กล่าวไว้ถึงปัจจัย 3 อย่างที่ทำให้การประเมินมูลค่าหุ้นนั้นผิดได้ แม้จะมีความรู้หรือเชี่ยวชาญมากแค่ไหนก็ตาม
หนังสือการประเมินมูลค่าหุ้นที่คุณ Aswath Damodaran เป็นผู้เขียน สั่งซื้อได้ที่นี่
1 ความคาดเคลื่อนจากการประมาณการณ์
การประเมินต้องมีการคาดการณ์เสมอ และการคาดการณ์ที่ไม่เหมาะสมก็ทำให้มูลค่าที่วัดออกมาได้คาดเคลื่อนไปมาก ยกตัวอย่างเช่น เราอาจคิดว่าบริษัทนี้จะรักษาอัตรากำไรขั้นต้นไว้ได้ 30% เหมือนกับผลประกอบการย้อนหลัง 3 ปีก่อนหน้า แต่หากสามปีที่ผ่านมา อัตรากำไรขั้นต้นนั้นสูงขึ้นเพราะเหตุการณ์พิเศษบางอย่าง ทั้งที่จริงแล้ว หากเก็บข้อมูลไกลกว่านั้น อัตรากำไรขั้นต้นจริงๆ ของบริษัทอาจอยู่ที่เพียง 15% ก็ได้ นี่คือปัจจัยแรกที่ทำให้มูลค่าซึ่งวัดออกมาได้มีความคาดเคลื่อน
2 ความคาดเคลื่อนจากตัวผลประกอบการเอง
ปัจจัยต่อมาก็คือ ถึงนักลงทุนจะสามารถกำหนดตัวแปรและค่าประมาณการณ์ต่างๆ ได้อย่างสมเหตุสมผลสักแค่ไหน แต่หากในงวดปีนั้น กิจการต้องประสบเหตุการณ์พิเศษบางอย่าง หรือสภาพธุรกิจเปลี่ยนไปกระทันหัน การประมาณการณ์ทั้งหมดก็เป็นเพียงแค่สิ่งไร้ค่า ก่อนหน้านี้เรามีหุ้นสื่อสารตัวหนึ่งที่ราคาปรับตัวลดลง จนนักลงทุนมองว่ามัน undervalued และพร้อมใจกันเข้าซื้อ แต่สภาพของธุรกิจที่เปลี่ยนไป ความสามารถในการแข่งขันที่ไม่อาจสู้คู่แข่งได้เลย มูลค่าที่แท้จริงของบริษัทก็ย่อมเปลี่ยนไปเช่นกัน จากที่เคย undervalued ก็ overvalued ได้ง่ายๆ
3 ความคาดเคลื่อนจากเศรษฐกิจมหภาค
ข้อนี้ในไทยเราอาจเห็นได้ไม่ชัดเจนนัก แต่คุณ Damodaran เคยมีประสบการณ์จากการประเมินมูลค่าหุ้นของสถาบันการเงิน Goldman Sach ในปี 2008 เขาเองก็ใช้การประเมินที่สมเหตุสมผล ตัวเลขผลประกอบการก็ออกมาน่าพอใจ แต่วิกฤตเศรษฐกิจกลับเกิดขึ้นแบบไม่คาดฝัน ก็ส่งผลให้การประเมินมูลค่าทั้งหมดนั้นสูญเปล่าได้เช่นกัน
ดังนั้น การประเมินมูลค่าหุ้นต้องเผื่อค่าของ "ความไม่แน่นอน" ไว้ด้วยเสมอ ซึ่งค่าความไม่แน่นอนที่ว่านั้นก็คือ ส่วนเผื่อความปลอดภัย (Margin of Safety) เช่น หากราคาหุ้นที่ประเมินได้คือ 110 บาท และราคาหุ้นในตลาดซื้อขายกันที่ 100 บาท ส่วนเผื่อความปลอดภัยของหุ้นตัวนี้จะอยู่ที่ 10% ซึ่งระดับนี้ บางคนอาจพอใจ แต่บางคนที่ conservative และให้ค่าส่วนเผื่อความปลอดภัยไว้ที่ 30% เป็นอย่างต่ำ ก็อาจไม่พอใจที่จะลงทุนในหุ้น ณ ระดับราคา 100 บาทก็ได้
และที่สำคัญ การหาข้อมูลที่มากขึ้นก็ไม่ได้รับประกันว่าความคาดเคลื่อนเหล่านี้จะหมดไป ต่อให้หาข้อมูลแบบเอาเป็นเอาตาย แต่สภาพธุรกิจของบริษัทเปลี่ยนกะทันหัน การประเมินมูลค่าที่ทำมาทั้งหมดก็สูญเปล่า ส่วนเผื่อความปลอดภัยจึงเป็นเกราะป้องกันที่ช่วยลดความเสี่ยงให้นักลงทุนได้
เหนือสิ่งอื่นใด ความไม่แน่นอนของมูลค่าที่ประเมินได้ ไม่ใช่เหตุผลที่จะทำให้เราคิดว่าการประเมินมูลค่าหุ้นคือสิ่งที่ใช้ไม่ได้ ขอเพียงแต่รู้ว่า กำลังเล่นอยู่กับอะไร ความเสี่ยงอยู่ที่ตรงไหน ส่วนเผื่อความปลอดภัยมากแค่ไหน ก็ทำให้การประเมินมูลค่าหุ้นเป็นวิธีที่สร้างผลกำไรได้อย่างยั่งยืน
ติดตามความรู้เพิ่มเติมได้ที่ FACEBOOK, LINE, WEBSITE
INVESTING.in.th — Happy Investing