Last updated: 2018-09-23 |
บิดาแห่งเศรษฐศาสตร์มหภาค ชื่อของเขาก็คือ จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ ซึ่งเราอาจเคยได้ยินชื่อเขามาบ้างไม่มากก็น้อยตั้งแต่เรียนสมัยมัธยมปลาย แต่นอกจากบทบาทของการเป็นนักเศรษฐศาสตร์ผู้เลื่องชื่อแล้ว เคนส์ยังเป็นหนึ่งในเทรดเดอร์ตลาดค่าเงินรายใหญ่ด้วย
แต่ผลการเทรดของเขาก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จนัก เพราะหากเทียบกับกลยุทธ์อื่นที่เทรดเดอร์ใช้กันในขณะนั้น เขาเองมีผลตอบแทนที่แพ้แบบค่อนข้างราบคาบ แถมมีความเสี่ยงมากกว่าเสียอีก
บทความที่เกี่ยวข้อง : จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ เทรดเดอร์ผู้โชคร้ายแห่งตลาด FOREX
แล้วเพราะอะไรกัน บิดาแห่งเศรษฐศาสตร์มหภาคผู้นี้ถึงเป็นเพียงเหยื่อในตลาดค่าเงิน (FOREX) นี้ได้ มาหาคำตอบไปด้วยกัน
กลยุทธ์ของเคนส์
ด้วยความที่เชี่ยวชาญใน macro economics กลยุทธ์ของเขาจึงเป็นการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานในระดับประเทศ เช่น อัตราเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ย ตัวเลขการจ้างงาน และอื่นๆ ซึ่งหากเขาคิดว่า ประเทศที่ได้วิเคราะห์นั้นจะมีภาวะเศรษฐกิจที่ดีขึ้น เขาก็จะเข้าไปซื้อเงินสกุลประเทศนั้นไว้มากๆ ในทางกลับกัน ถ้าคิดว่าเศรษฐกิจประเทศนั้นจะแย่ลง เขาก็จะขายเงินสกุลนั้นออกไป (เป็นตัวอย่างแบบคร่าวๆ)
แล้วทำไม
ไม่เวิร์ค
ซึ่งวิธีนี้ก็ไม่ต่างอะไรกับการลงทุนด้วยปัจจัยพื้นฐานในตลาดหุ้น แต่เราต้องไม่ลืมว่า จุุดอ่อนของการใช้ปัจจัยพื้นฐานก็คือ นักลงทุนจะไม่รู้เวลาที่จะเกิดขึ้นเลย รู้ว่ามันจะขึ้นนะ รู้ว่ามันจะลงนะ แต่ไม่รู้เมื่อไหร่
มันเป็นปัญหากับตลาดค่าเงินตรงที่ การเข้าเทรดในตลาดนี้ส่วนมากจะเข้าไปเล่นโดยใช้ leverage (อธิบายอย่างง่ายที่สุดก็คือ เล่นกับของมูลค่า 1 ล้านบาท ด้วยเงินเพียง 1 แสนบาท แต่คิดกำไรขาดทุนบนฐาน 1 ล้านบาท) ถ้าเราคาดการณ์ทิศทางถูก แต่ระหว่างทางตลาดเหวี่ยงขึ้นลงรุนแรง เราก็มีโอกาสขาดทุนจนหมดตัวได้ ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับเขา
พื้นฐานใช้ไม่ได้ ?
ปัจจัยพื้นฐานยังคงใช้ได้ดีเสมอไม่ว่าจะเทรดหุ้นหรือตลาดค่าเงิน แม้จุดอ่อนของวิธีการนี้คือเราไม่รู้ช่วงเวลาที่มันจะเกิดขึ้น ไม่รู้ว่าจะขึ้นหรือลงเมื่อไหร่ แต่ถ้าเราซื้อแล้วถือหุ้นตามปกติ มันก็ไม่ใช่ปัญหาที่จะถือรอต่อไป แค่อาจต้องใช้เวลากว่าที่ราคาหุ้นจะขึ้น
แต่ในกรณีของเคนส์นั้น อย่างที่กล่าวไว้ว่าเขามีการใช้ leverage ถ้าเขาเลือกที่จะไม่ใช้มัน แล้วลงทุนด้วยเงินเต็ม 100% เหมือนกับการลงทุนในหุ้น ก็ไม่แน่ว่าเขาอาจไม่ต้องเผชิญกับช่วงที่ขาดทุนหนัก จนทำให้ผลตอบแทนในระยะยาวต่ำลง
กราฟผลตอบแทนของเคนส์ที่เหวี่ยงขึ้นเหวี่ยงลงเป็นอย่างมาก
นักลงทุนที่ใช้ปัจจัยพื้นฐานจึงมีสองทางเลือก ทางเลือกแรกคือ ถ้าใช้ปัจจัยพื้นฐานเพียงอย่างเดียวในการลงทุน อย่ากู้เงิน ใช้มาร์จิ้น หรือใช้ leverage เมื่อลงทุนเด็ดขาด ไม่อย่างนั้นการผันผวนของราคาจะทำให้เราขาดทุนหนักได้ไม่ยาก
ทางเลือกที่สอง ถ้าอยากรู้จังหวะเวลาว่าจะขึ้นหรือลงเมื่อไหร่ ก็ควรใช้ปัจจัยทางเทคนิคเข้ามาวิเคราะห์ร่วมด้วย จะช่วยให้สามารถจับจังหวะได้ดีมากขึ้น แต่ทางเลือกนี้ก็ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญพอสมควร ไม่เช่นนั้นนักลงทุนจะสับสนเมื่อใช้ทั้งสองอย่างร่วมกันได้
เคนส์ไม่ใช่คนที่ไม่เก่ง แต่เชาพลาดตรงที่วิธีการของเขามีความเสี่ยงอันใหญ่หลวงอยู่ ถ้าไม่ปิดความเสี่ยงไว้ทุกทาง ตลาดมันก็พร้อมเล่นกลับเราได้เสมอ ไม่ว่าจะเป็นคนทั่วไป หรือเป็นถึงบิดาแห่งเศรษฐศาสตร์มหภาคก็ตาม
ติดตามความรู้เพิ่มเติมได้ที่ FACEBOOK, LINE, WEBSITE
INVESTING.in.th — Happy Investing
แหล่งอ้างอิง
If You’re So Smart: The Currency Trading Record of John Maynard Keynes : https://www.valuewalk.com/2015/01/youre-smart-currency-trading-record-john-maynard-keynes/
Oct 29, 2020