Last updated: 2018-10-23 |
หุ้นชั้นยอด นิยามของมันคือหุ้นที่เป็นธุรกิจที่ดีและสามารถสร้างผลตอบแทนในระยะยาวได้อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งคำว่าธุรกิจที่ดีนี้ ไม่ใช่เพียงแค่กำไรที่เพิ่มขึ้นระยะสั้น แต่พื้นฐานทางธุรกิจต้องดีพอจนผลประกอบการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งหากบริษัทนั้นๆ สามารถทำได้ ราคาหุ้นก็พร้อมที่จะปรับตัวขึ้นอย่างมาก ดีไม่ดีอาจมากกว่า 500% ด้วยซ้ำ
ท่ามกลางหุ้นกว่า 700 บริษัทในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย การจะหาหุ้นชั้นยอดเหล่านี้จึงไม่ใช่เรื่องง่าย บางตัวเราอาจเข้าใจว่ามันคือห่านทองคำ แต่ความจริงมันอาจเป็นเพียงห่านฟ้ากินยุงก็ได้ ซึ่งการวิเคราะห์ธุรกิจที่ผิดพลาด ก็อาจทำให้นักลงทุนได้ผลตอบแทนน้อยกว่าที่ควรจะเป็น หรืออาจถึงขั้นขาดทุน
แต่นี่ไม่ใช่เรื่องยากสำหรับคุณกวี ชูกิจเกษม นักวิเคราะห์จากหลักทรัพย์กสิกรไทย และยังเป็นนักลงทุน VI พันธุ์แท้ ที่พร้อมจะมาบอกเล่าให้เราฟัง กับ 8 วิธีหาหุ้นดีเพื่อลงทุน
8 วิธีหาหุ้นชั้นยอดนี้ สรุปจากหนังสือ เพาะหุ้นเป็น เห็นผลยั่งยืน ซึ่งเขียนโดยคุณกวี ชูกิจเกษม คลิกทที่รูปเพื่อสั่งซื้อ
1 มีกำไรเติบโตสม่ำเสมอในระยะยาว
การดูกำไรย้อนหลังจะไม่ดูเพียงแค่ 2-3 ปี แต่เราอาจจำเป็นต้องดูย้อนไปถึง 10 ปีเพื่อดูว่ากิจการมีแนวโน้มกำไรที่เพิ่มขึ้นหรือไม่ ไม่จำเป็นต้องกำไรทุกปี แต่ถ้าทำได้ก็จะดีมาก เพราะนั่นจะแสดงว่ากิจการทนทานต่อสภาวะเศรษฐกิจได้เกือบทุกรูปแบบ
2 มีอำนาจในการต่อรองกับลูกค้าได้สูง
ไม่มีใครชอบให้ลูกค้าต่อราคา กระทั่งนักลงทุนก็เช่นกัน ธุรกิจที่ดีคือลูกค้าไม่มีอำนาจในการต่อรองราคามากนัก ยกตัวอย่างเช่น CPALL เราเคยเห็นใครบ้างไหมที่เดินเข้าเซเว่นแล้วขอลดราคาได้ ? คำตอบคือไม่มีเลย
3 เป็นผู้นำในธุรกิจ
การที่เป็นเบอร์ 1 ในอุตสาหกรรมนั้นได้ย่อมสะท้อนฝีมือของบริษัทได้เป็นอย่างดี แต่อย่างไรก็ตาม ความเป็นเบอร์ 1 นั้นสามารถเปลี่ยนแปลงได้เสมอ ยกตัวอย่างเช่นโอสถสภาที่เพิ่งเข้าตลาดหุ้นในวันนี้ (บทความนี้เขียนเมื่อ 17 ตุลาคม 2018) ที่แม้จะเป็นอันดับหนึ่งในตลาดเครื่องดื่มชูกำลัง แต่บริษัทก็กำลังเสียส่วนแบ่งการตลาดลดลงทีละน้อย นี่คือสิ่งที่นักลงทุนต้องติดตามต่อว่า บริษัทจะสามารถแก้เกมได้ไหม
บทความที่เกี่ยวข้อง : เทียบหมัดต่อหมัด หุ้น CBG และ OSP
4 ลงทุนในธุรกิจที่ถนัด
เพราะการทำธุรกิจที่ไม่เชี่ยวชาญหรือไม่เกี่ยวข้อง อาจไม่สามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีได้กิจการได้ ในที่นี้คุณกวียกตัวอย่างหุ้น TTA ที่ได้เข้าไปลงทุนในบริษัทขายถ่านหินแห่งหนึ่ง แต่ก็ทำเงินจากมันได้ไม่มากนัก ทางที่ดี ให้เลือกหุ้นที่บริษัททำธุรกิจที่ตัวเองถนัดจะดีกว่า
5 ฐานะการเงินแข็งแกร่ง
ง่ายๆ ก็คือมีหนี้ในระดับที่ควบคุมได้ ไม่มากจนเกินไปจนก่อให้เกิดความเสี่ยงที่จะหาเงินมาชำระไม่ทัน แม้ในสถานการณ์ปกติ การมีหนี้สินมากจะไม่ใช่เรื่องเสียหาย แต่ทุกครั้งที่เกิดวิกฤตหนัก บริษัทที่อยู่รอดก็มักจะเป็นบริษัทที่มีหนี้สินน้อยเสมอ
6 ไม่จำเป็นต้องลงทุนมากในอนาคต
การลงทุนมากๆ ในอนาคต อาจหมายถึงการต้องกู้เงินเพิ่ม และเมื่อกู้เงินเพิ่ม ดอกเบี้ยจ่ายก็จะเพิ่มขึ้นตามด้วยเช่นกัน หรือดีไม่ดีถ้ากิจการไม่สามารถกู้เงินได้ หุ้นตัวนั้นอาจมีการประกาศเพิ่มทุนเพื่อให้นักลงทุนใส่เงินเข้าไปเพิ่ม นี่อาจเป็นสิ่งที่นักลงทุนไม่อยากเจอนัก
7 ไม่ต้องพึ่งลูกค้ารายใหญ่รายเดียว
ไม่ใช่แค่ลูกค้ารายใหญ่ แต่ยังรวมถึงคู่ค้ารายใหญ่หรือซัพพลายเออร์ด้วย ลองนึกดูว่าธุรกิจแห่งหนึ่งที่มียอดขายกว่า 70% มาจากลูกค้ารายเดียว หากวันหนึ่งลูกค้าคนนั้นเจอคู่แข่งรายอื่นที่ดีกว่า นั่นเท่ากับเป็นจุดจบของหุ้นตัวนั้นเลย
8 ผู้บริหารมีฝีมือและมีธรรมาภิบาล
อย่างที่บัฟเฟตต์เคยบอกไว้ จงค้นหาผู้บริหารที่มีคุณสมบัติครบ 3 ข้อ ซื่อสัตย์ ขยัน และเก่ง โดยเฉพาะข้อแรกสำคัญที่สุด เพราะถ้าไม่มีมัน อีกสองข้อที่เหลือจะทำให้คนๆ นั้นกลับมาฆ่าเราได้ เรื่องนี้อาจวิเคราะห์ได้ยากที่สุดในบรรดา 8 ข้อ แต่เราอาจดูได้คร่าวๆ จากผลงานที่ผ่านมาของเขา ผู้บริหารรักษาคำพูดไหม การวางตัวเป็นอย่างไร สิ่งที่เขาปฏิบัติต่อคนรอบตัว ฯลฯ
ได้หุ้นดีแล้ว
ก็ยังไม่จบ
แม้เราจะได้หุ้นชั้นยอดจากกฎทั้ง 8 ข้อนี้แล้ว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกราคาจะเป็นราคาที่เหมาะสมในการเข้าลงทุน นักลงทุนจึงมีทางเลือกอยู่สองทาง ทางแรก หากเป็นสายซื้อหุ้นออมทุกๆ เดือน (DCA) ก็สามารถเข้าซื้อได้เลยหากเจอหุ้นที่มีคุณสมบัติครบ แต่ถ้าเราเป็น VI ก็จะเป็นต้องประเมินมูลค่าก่อนที่จะเข้าซื้อหุ้นทุกครั้ง เพื่อให้ได้ต้นทุนที่ได้เปรียบที่สุด
และทั้งหมดนี้คือหลักการเลือกหุ้น 8 วิธี ตามสไตล์คุณกวี ชูกิจเกษม
ติดตามความรู้เพิ่มเติมได้ที่ FACEBOOK, LINE, WEBSITE
INVESTING.in.th — Happy Investing
แหล่งอ้างอิง
เพาะหุ้นเป็น เห็นผลยั่งยืน : www.investing.in.th/product/62804/เพาะหุ้นเป็น-เห็นผลยั่งยืน
สัมมนาพิเศษ
ไม่ว่าตลาดหุ้นจะแพงหรือถูก เราก็ยังหาหุ้นที่ดีได้เสมอด้วยการประเมินมูลค่าหุ้น แต่จะประเมินมูลค่ายังไงถึงจะเหมาะสม ประเมินยังไงให้เฉียบขาดและทำกำไรได้จริง พบคำตอบได้ที่สัมมนา FFTC102 รู้อะไรก็ไม่สู้รู้มูลค่า การประเมินมูลค่าหุ้น
ลงทะเบียนได้ที่ http://bit.ly/FFTC102 (เหลือ 4 ที่นั่งสุดท้าย)
Mar 02, 2021
Mar 02, 2021