สรุปหนังสือ The Little Book of Commonsense Investing

Last updated: 2 ธ.ค. 2561  | 


เมื่อเราอยากเอาชนะตลาด คนส่วนใหญ่ย่อมนึกถึงการลงทุนด้วยตัวเอง หรือไม่ก็ซื้อกองทุน active ทั้งหลาย


แต่อันที่จริง เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าการซื้อขายบ่อยๆ จะเอาชนะตลาดได้ ซึ่งหนังสือ The Little Book of Commonsense Investing จะมาท้าทายความเชื่อนั้น


ผู้เขียนเล่มนี้คือ John Bogle ที่นอกจากจะเป็นผู้ก่อตั้งและอดีตซีอีโอของกองทุนแวนการ์ด ยังเป็นผู้คิดค้นกองทุนดัชนีด้วย ซึ่งหนังสือเล่มนี้ จะพูดถึงการลงทุนที่ชาญฉลาดผ่านกองทุนดัชนีที่มีค่าธรรมเนียมต่ำ ที่แม้จะไม่ชนะตลาด แต่ก็ยังดีกว่าการลงทุนแบบที่คนส่วนใหญ่ทำกัน . . . แล้วเพราะอะไร เขาถึงแนะนำให้นักลงทุนจำนวนมากลงทุนในกองทุนดัชนี ?



 บทที่ 1  A Parable


ในบทนี้จะพูดถึงเรื่องราวของบัฟเฟตต์ที่พูดถึง Gotrocks และผู้ช่วยของเขา ประเด็นสำคัญก็คือ นักลงทุนส่วนใหญ่มักต้องจ่ายเงินให้กับคนที่มาช่วยแนะนำการลงทุน ที่ดูเหมือนว่าจะทำให้เราได้เงินมากขึ้น แต่แท้จริงแล้วเรากลับต้องเสียเงินไปฟรีๆ โดยไม่ได้อะไรกลับมา ในความคิดของบัฟเฟตต์นั้น ผลตอบแทนจะลดลงเมื่อนักลงทุนเคลื่อนไหวมากขึ้น หรือก็คือการซื้อขายบ่อยๆ นั่นเอง ดังนั้นหากต้องการผู้ช่วยจริงๆ (ในหนังสือใช้คำว่า Middlemen หรือคนกลาง ซึ่งอาจหมายถึงนักวิเคราะห์หรือผู้จัดการกองทุนก็ได้) ก็ควรเป็นผู้ช่วยที่คิดค่าธรรมเนียมต่ำที่สุด



 บทที่ 2  Rational Exuberance


จากเรื่องเล่าในบทแรก คุณโบเกิ้ลได้นำเรื่องนี้มาเปรียบเทียบกับหุ้น เขากล่าวว่าในระยะยาวแล้ว ผลตอบแทนจากธุรกิจกับผลตอบแทนจากการลงทุนในหุ้นนั้นมีความสัมพันธ์กันมาก หรืออีกความหมายก็คือ ผลตอบแทนจากหุ้นจะขึ้นอยู่กับศักยภาพทางธุรกิจ แม้ระยะสั้นราคาอาจผันผวนไปตามอารมณ์ของนักลงทุน แต่เมื่อเราลงทุนระยะยาว เรากำลังซื้อธุรกิจที่อยู่เบื้องหลังมัน ดังนั้น การลงทุนระยะสั้นจึงเป็นเกมที่แตกต่างจากการลงทุนระยะยาวอย่างสิ้นเชิง และคุณโบเกิ้ลก็ยอมรับว่าเขาไม่เข้าใจเกมของการเทรดสั้นเช่นกัน



 บทที่ 3  Cast Your Lot With Business


คุณโบเกิ้ลเชื่อว่าวิธีการที่ง่ายเป็นทางออกของปัญหาที่ดีที่สุด เขาได้ยกตัวอย่างถึงผลตอบแทนจากการลงทุนในหุ้นหลายๆ ตัว (ในหนังสือใช้ S&P 500 เป็นตัวอย่าง) มาเทียบกับกองทุนขนาดใหญ่จากหลายๆ บลจ. และพบว่าตลอดระยะเวลากว่า 35 ปี มีถึง 26 ปีที่กองทุนเหล่านี้แพ้ S&P 500



 บทที่ 4  How Most Investors Turn a Winner’s Game into a Loser’s Game


ในตลาดมีทั้งหุ้นที่ชนะตลาดและแพ้ตลาด นักลงทุนส่วนใหญ่จะมีโอกาส 50:50 ที่จะเจอกับหุ้นที่ชนะตลาดได้ แต่ถ้ารวมค่าธรรมเนียมเข้าไป ด้วยความน่าจะเป็นที่เท่าเดิม จะกลายเป็นว่านักลงทุนส่วนใหญ่ไม่สามารถเอาชนะตลาดได้ (เพราะโดนค่าธรรมเนียมนั่นเอง) และจะแพ้ตลาดมากขึ้นถ้าหากค่าธรรมเนียมสูงขึ้น สมมติว่าตลาดมีผลตอบแทนที่ 8% และเราต้องจ่ายค่าธรรมเนียม 2.5% สุดท้ายแล้วเราจะเหลือผลตอบแทนจริงๆ แค่ 5.5% ดังนั้นนักลงทุนควรให้ความสำคัญกับค่าธรรมเนียมที่่ต่ำเป็นอันดับแรก



 บทที่ 5  The Grand Illusion


อารมณ์คือจุดอ่อนของนักลงทุนส่วนใหญ่ เพราะส่วนมากจะชอบเข้ามาเล่นเมื่อตลาดเป็นขาขึ้น แต่การทำแบบนั้นจะเป็นการทิ้งกำไรก้อนใหญ่โดยไม่รู้ตัว คุณโบเกิ้ล ยกตัวอย่างโดยสมมติว่าตอนนี้ดัชนีอยู่ที่ 10,000 จุดในปี 2010 จากนั้นในปี 2011 ตลาดหุ้นได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาเป็น 11,000 จุด คิดเป็นการเพิ่มขึ้น 10% นักลงทุนที่มักเข้ามาซื้อขายตอนตลาดเป็นขาขึ้นก็จะเข้ามาช่วงนี้ จากนั้นในปี 2013 ตลาดก็พุ่งขึ้นไปถึงจุดสูงสุดที่ 13,000 แล้วร่วงลงมาเหลือ 11,500 จุดในต้นปี 2014


ถ้าเป็นนักลงทุนที่เข้าซื้อตั้งแต่ปี 2010 แล้วนั่งรอเงียบๆ อย่างใจเย็น ผลตอบแทนที่เขาได้รับจะอยู่ที่ปีละ 4% ในขณะที่นักลงทุนซึ่งเข้ามาตอนตลาดกำลังคึกคัก จะได้ผลตอบแทนเพียงแค่ 2% ต่อปี พูดอีกอย่างก็คือ เราสามารถเอาชนะตลาดที่ผันผวนได้ ด้วยการนั่งรออย่างใจเย็น



 บทที่ 6  Taxes Are Costs, Too


ความท้าทายอีกอย่างของนักลงทุนในหุ้นก็คือการเสียภาษี เพราะกองทุนที่เป็นประเภท active (ซื้อขายบ่อยเพื่อเอาชนะตลาด) มักจะต้องจ่ายภาษีมากกว่ากองทุนแบบ passive (ซึ่งก็คือกองทุนดัชนี) ดังนั้น ภาษีที่ต้องจ่ายมากขึ้นก็ทำให้ผลตอบแทนเราลดลง แต่สำหรับในประเทศไทย เราไม่มีภาษีจากการขายหุ้นเหมือนในต่างประเทศ จึงอาจไม่จำเป็นต้องคิดถึงต้นทุนส่วนนี้มากนัก



 บทที่ 7  When the Good Times No Longer Roll


ในหนังสือได้กล่าวว่านี่เป็นช่วงเวลาของผลตอบแทนที่ต่ำ เพราะผลตอบแทนของกองทุนแบบ active แทบไม่ต่างอะไรกับผลตอบแทนของกองทุนแบบ passive แล้ว และถ้าช่วงไหนที่กองทุนดัชนีให้ผลตอบแทนติดลบ แต่กองทุนแบบ active ส่วนใหญ่กลับสามารถทำเงินได้ มันจะเป็นความผิดปกติที่ใหญ่มาก เพราะไม่บ่อยนักที่จะเกิดเรื่องแบบนี้


หลายคนอาจสงสัยว่าทำไมถึงเป็นความผิดปกติ ลองดูตัวอย่างในบทความก่อนหน้าที่ได้อธิบายถึงผลตอบแทนของบัฟเฟตต์แบบละเอียด จะเห็นว่า ช่วงเวลาไหนที่นักลงทุนระดับตำนานผู้นี้แพ้ตลาด หลังจากนั้นไม่นาน มันมักเกิดวิกฤตตลาดหุ้นตามมา


บทความที่เกี่ยวข้อง : เพราะอะไรบัฟเฟตต์ถึงแพ้ตลาดมา 6 ปีแล้ว



 บทที่ 8  Selecting Long-Term Winners


รูปของคุณ John Bogle ผู้เป็นตำนานแห่ง Index Fund


ในบทนี้กล่าวถึงผลตอบแทนของกองทุนรวมแบบ active ที่เก็บข้อมูลมาตลอดระยะเวลา 35 ปี ซึ่งพบว่ามีกองทุนไม่ถึง 1% เท่านั้นที่สามารถสร้างผลตอบแทนได้มากกว่าตลาด 2% ต่อปี ซึ่งเหตุผลที่กองทุนส่วนใหญ่ไม่สามารถทำผลตอบแทนชนะตลาดได้ ก็เป็นเพราะตัวผู้จัดการกองทุนและภาวะตลาดที่เปลี่ยนไปนั่นเอง หรือแทบจะกล่าวได้ว่า กองทุนที่มีการบริหารจัดการแทบไม่สามารถเอาชนะตลาดในระยะยาวได้



 บทที่ 9  Yesterday’s Winners, Tomorrow’s Losers


มีบางกองทุนเช่นกันที่ทำเงินจากในช่วงที่บางกลุ่มหรือบางตลาดกำลังเป็นขาขึ้น ตัวอย่างเช่นกองทุนบางแห่งที่สามารถทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยมในหุ้นดอทคอมเมื่อปลายทศวรรษที่ 1990 แม้จะทำผลตอบแทนได้มาก แต่พอถึงปี 2000-2002 กองทุนเกือบทั้งหมดก็ล้ม การลงทุนในอุตสาหกรรมแบบเฉพาะเจาะจงจึงไม่ได้ดีต่อการลงทุนระยะยาว



 บทที่ 10  Seeking Advice to Select Funds?


เราจำเป็นต้องจ่ายเงินให้กับผู้แนะนำการลงทุนไหม ? คำตอบของคุณโบเกิ้ลคือ "ไม่" เพราะในความเป็นจริง ยิ่งเราจ่ายเงินให้กับที่ปรึกษาเท่าไหร่ ผลตอบแทนเราจะยิ่งแพ้ตลาดไปเรื่อยๆ (เพราะเงินที่จ่ายคือตัวกัดกร่อนผลตอบแทน) ดังนั้นเอาเงินไปซื้อกองทุนดัชนีเองจะดีกว่า



 บทที่ 11  สนใจเฉพาะกองทุนค่าธรรมเนียมต่ำ


บทนี้ได้พูดถึงการเลือกองทุนด้วยตัวเอง แม้จะมีกองทุนนับร้อยรับพันในตลาด สิ่งแรกที่เราควรดูก่อนก็คือค่าธรรมเนียม ให้เราตัดกองทุนที่ต้องเสียค่าธรรมเนียมสูงๆ ออกไป ยังไม่ต้องสนใจผลตอบแทนของกองทุนในตอนนี้ เพราะผลตอบแทนคือสิ่งที่ไม่แน่นอน แต่ค่าธรรมเนียมที่ต้องจ่ายคือสิ่งที่แน่นอนเสมอ โดยคุณโบเกิ้ลได้ทำการทดลองจัดกลุ่มกองทุนออกเป็นสี่กลุ่ม เรียงลำดับโดยค่าธรรมเนียม ผลลัพธ์ที่ออกมาคือกองทุนที่ค่าธรรมเนียมต่ำนั้นมีผลตอบแทนที่สูงกว่า


บทความที่เกี่ยวข้อง : กองทุนไทยฟรีค่าธรรมเนียม จะช่วยประหยัดเงินได้สักแค่ไหน



 บทที่ 12  Profit from the Majesty of Simplicity


ขั้นตอนต่อมาคือ ลงทุนในกองทุนที่ลงทุนทั้งตลาด เพราะกองทุนเหล่านี้จะลงทุนในแทบทุกกลุ่มอุตสาหกรรม หากมีหุ้นกลุ่มไหนขึ้น พอร์ตรวมก็จะขึ้นตาม แต่เราจะไม่ตายหากมีหุ้นบางกลุ่มที่ underperform การลงทุนใน index fund จึงเหมาะอย่างยิ่งสำหรับการลงทุนระยะยาว




 บทที่ 13  Bond FUnds and Money Market Funds


ถ้าต้องการซื้อกองทุนเหล่านี้ ก็ให้มองหากองทุนที่มีค่าธรรมเนียมต่ำเข้าไว้เช่นกัน



 บทที่ 14  Index Funds That Promise to Beat the Market


เราอาจไม่เคยเจอกองทุนดัชนีที่บอกว่าจะเอาชนะตลาดได้ แล้วมันคืออะไร ? มันก็คือกองทุนที่หาเฉพาะหุ้นบางตัวหรือกลุ่มหุ้นบางกลุ่มแล้วลงเงินตามผลการทดสอบทางสถิติย้อนหลัง แม้สิ่งเหล่านี้จะดูน่าเชื่อถือ แต่คุณโบเกิ้ลมองว่าอดีตไม่ได้เป็นตัวบอกอนาคต อีกทั้งมันยังไม่ใช่ index fund ที่แท้จริงแม้แต่น้อย



 บทที่ 15  The Exchange Traded Fund


หรือก็คือกองทุนรวมที่ซื้อขายได้ผ่านตลาดหุ้น (ETF) คุณโบเกิ้ลมองว่าในระยะยาวมันจะให้ผลตอบแทนไม่ต่างกับกองทุนรวม แต่ภายใต้เงื่อนไขที่ว่ามันต้องลงทุนในทั้งตลาดและมีค่าธรรมเนียมที่ต่ำ



 บทที่ 16  What Would Benjamin Graham Have Thought about Indexing?


ในบทนี้ผู้เขียนได้ยกคำพูดจากเบนจามิน เกรแฮม และวอเร็น บัฟเฟตต์ ที่พูดถึงข้อดีของการลงทุนในกองทุนดัชนี



 บทที่ 17  The Relentless Rules of Humble Arithmetic


เป็นการสรุปเนื้อหาส่วนใหญ่จากบทก่อนหน้า ไม่ได้มีอะไรเป็นพิเศษนัก



 บทที่ 18  What Should I Do Now?


สุดท้ายนี้ สิ่งที่คุณโบเกิ้ลแนะนำก็คือให้ลงทุนในกองทุนดัชนีเป็นส่วนใหญ่ แต่ให้แบ่งเงินมาเล็กน้อย (เช่น 5% ของเงินทั้งหมดที่มี หรือมากกว่านั้น) มาลงทุนด้วยตัวเอง ซื้อกองทุนแบบ active หรือลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง ด้วยการจัดพอร์ตแบบนี้ จะทำให้พอร์ตการลงทุนรวมของเรามีผลงานที่เป็นไปตามตลาด และยังมีโอกาสได้ผลตอบแทนจากการเก็งกำไรด้วยเงินส่วนน้อยนี้ด้วย

 

 

 

 

ติดตามความรู้เพิ่มเติมได้ที่ FACEBOOK, LINE, WEBSITE

INVESTING.in.th — Happy Investing
ร้านหนังสือของนักลงทุน

 

 

  แหล่งอ้างอิง  

Review: The Little Book of Common Sense Investing : https://www.thesimpledollar.com/review-the-little-book-of-common-sense-investing/


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้