Last updated: 11 ธ.ค. 2561 |
หากเอ่ยถึงคำว่าผู้จัดการกองทุนระดับโลก ชื่อของปีเตอร์ ลินช์ อดีตผู้จัดการกองทุน Fidelity จะต้องเป็นหนึ่งในบุคคลที่นักลงทุนคิดถึงเป็นลำดับแรก จากผลตอบแทนที่เขาทำได้กว่า 29% ติดต่อกัน 13 ปี และเป็นเจ้าของคำว่า 10 Bagger หรือ "หุ้นสิบเด้ง" ที่ปรากฎอยู่ในหนังสือเหนือกว่าวอลสตรีท จึงทำให้ชื่อเสียงของเขาเป็นที่รู้จักในวงการการลงทุนทั่วโลก
ด้วยระยะเวลา 13 ปี มันก็มากพอที่จะพิสูจน์ความเก๋าเกมของลินช์ได้ไม่ยาก แต่ผู้จัดการกองทุนมือพระกาฬไม่ได้มีแค่คนเดียว ยังมีอีกคนหนึ่งที่มีชื่อเสียงอย่างมากในต่างประเทศ ซึ่งอาจไม่ได้เป็นที่รู้จักในไทยมากนัก แต่ด้วยผลตอบแทน 22% ติดต่อกัน 25 ปี ก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายที่เราควรทำความรู้จักเขาผู้นี้ไว้
ผู้จัดการกองทุนยักษ์ใหญ่มูลค่ากว่า 1 แสนล้านเหรียญ เขาคือโฮเวิร์ด มาร์คส
Oaktree
Capital
โฮเวิร์ด มาร์คส (Howard Marks) เริ่มต้นตำนานของเขาด้วยการก่อตั้งบริษัทจัดการกองทุนและที่ปรึกษาทางการลงทุน Oaktree Capital Management เมื่อปี 1995 ซึ่งแต่เดิมนั้น คุณมาร์คสเคยทำงานอยู่ใน Citicorp และ TCW ในสายงานวิเคราะห์หลักทรัพย์ และเชี่ยวชาญเป็นพิเศษในเรื่องหนี้สินด้อยคุณภาพ และหลักทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูง เมื่อก่อตั้งกองทุนขึ้นมา เขาจึงเน้นลงทุนในสินทรัพย์เหล่านี้ด้วย
จากในปี 1995 ที่มีสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการ 5 พันล้านเหรียญ มาถึงปัจจุบัน Oaktree ก็มีสินทรัพย์รวมแล้วกว่า 1 แสนล้านเหรียญ และต้องยอมรับว่าฝีมือของเขาไม่ธรรมดาเลย เพราะแม้แต่ในปี 2008 ซึ่งเป็นปีแห่งวิกฤตที่นักลงทุนล้มหายตายจากไปจำนวนมาก แต่ Oaktree กลับสามารถทำเงินได้เกือบ 11 พันล้านเหรียญ จากการเข้าซื้อหนี้สินด้อยคุณภาพ
มูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการของ Oaktree
กลยุทธ์ของเขา
Oaktree Capital ลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลายมาก ทั้งหุ้น ตราสารหนี้ หุ้นกู้แปลงสภาพ หนี้สินด้อยคุณภาพ ฯลฯ โดยทั้งหมดนี้ใช้การวิเคราะห์ด้วยปัจจัยพื้นฐาน ถึงแม้เขาจะสร้างผลตอบแทนได้ในระดับที่สุดยอด แต่สิ่งที่เขาให้ความสำคัญเป็นหลักคือการควบคุมความเสี่ยง ผลตอบแทนต้องดีที่สุด แต่อยู่ภายใต้เงื่อนไขของความเสี่ยงที่เหมาะสม
เก่งแค่ไหน
ก็ไม่พยากรณ์
สิ่งสำคัญอีกอย่างคือเขาไม่คาดการณ์ภาพรวมเศรษฐกิจ เชื่อเฉพาะข้อมูลของธุรกิจหรือสินทรัพย์ที่เข้าไปลงทุน มากกว่าที่จะพยากรณ์อนาคตทางเศรษฐกิจ อัตราดอกเบี้ย หรือตลาดหุ้นโดยรวม เพราะต่อให้เก่งแค่ไหนก็ไม่มีใครรู้อนาคตที่แน่นอน รวมถึงไม่มีการจับจังหวะตลาด หากสภาวะตลาดเปลี่ยนไป ก็จะลงทุนแบบระมัดระวังมากขึ้น
จดหมายถึง
นักลงทุน
ไม่ใช่แค่วอเร็น บัฟเฟตต์ ที่เขียนจดหมายถึงผู้ถือหุ้นของตัวเอง แต่โฮเวิร์ด มาร์คส ก็มีทั้งการเขียนบันทึกและเขียนจดหมายถึงผู้ถือหน่วยลงทุนของ Oaktree เป็นประจำทุกปีเช่นกัน และเขาเองก็ได้รวมรวมงานเขียนของเขาออกมาเป็นหนังสือ หนึ่งในนั้นคือ "The most important thing illuminated" หรือ "แก่นการลงทุนแบบเน้นคุณค่า" ที่แปลโดยคุณพรชัย รัตนนนทชัยสุข ที่แม้แต่บัฟเฟฟต์ยังบอกว่า นี่เป็นหนังสือการลงทุนแบบเน้นคุณค่าที่ควรอ่านเป็นอย่างยิ่ง
สิ่งที่เรา
ได้เรียนรู้
คงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าเขาเป็นผู้จัดการกองทุนชนิดที่หาตัวจับได้ยากไม่แพ้ปีเตอร์ ลินช์ หรือจอห์น เนฟฟ์ แต่เขาเองก็ยังให้ความสำคัญกับการควบคุมความเสี่ยงเป็นหลัก อีกทั้งยังไม่คาดการณ์สภาวะตลาดหรือจับจังหวะตลาดด้วยซ้ำ สิ่งที่เขาทำคือ ตอบสนองต่อสิ่งที่ตลาดเป็น และรับมือกับมันให้ดีที่สุด
อีกทั้งวิธีการของเขาที่เน้นลงทุนในหนี้สินด้อยคุณภาพ หากมองดีๆ แล้ว คุณมาร์คสก็เป็นชาวสวน (contrarian) ตัวยงอีกคนหนึ่ง เพราะหนี้สินด้อยคุณภาพเหล่านี้มักเกิดจากบริษัทหรือระบบเศรษฐกิจบางแห่งที่มีปัญหา อย่างเช่นที่เขาทำในปี 2008 แต่ด้วยความรู้และความกล้าที่จะลงทุนในช่วงที่สิ่งต่างๆ เลวร้าย ก็ทำให้เขาเก็บเงินเข้ากระเป๋าของ Oaktree ได้กว่า 11 พันล้านเหรียญ และได้กลายมาเป็นหนึ่งในกองทุนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก
ทั้งหมดนี้คือตำนานของโฮเวิร์ด มาร์คส ผู้ที่เป็นทั้ง VI และ Fund Manager ที่ทุกคนต้องจดจำ
ติดตามความรู้เพิ่มเติมได้ที่ FACEBOOK, LINE, WEBSITE
INVESTING.in.th — Happy Investing
ร้านหนังสือของนักลงทุน
แหล่งอ้างอิง
แก่นการลงทุนแบบเน้นคุณค่า : www.investing.in.th/product/31590/แก่นการลงทุนแบบเน้นคุณค่า-
Investor Howard Marks on Luck, Risks and the Job that Got Away : http://knowledge.wharton.upenn.edu/article/investor-howard-marks-luck-risks-job-got-away/
Howard Marks: Deep-Value Outperformance : https://www.gurufocus.com/news/601808/howard-marks-deepvalue-outperformance
14 ส.ค. 2561
13 พ.ย. 2563
13 พ.ย. 2563