ยิ่งใหญ่ยิ่งดี ยกเว้นเรื่องหุ้น ความเชื่อว่าหุ้นเล็กรวยง่ายกว่าหุ้นใหญ่

Last updated: 31 ม.ค. 2562  | 


"เวลาที่ผมดูหุ้นขนาดใหญ่ ผมจะตั้งสมมติฐานไว้ก่อนว่ามันจะมีอัตราการเติบโตที่ช้ากว่าหุ้นขนาดเล็ก สิ่งที่มันต่างกันก็คือตัวเลขสำคัญต่างๆ เช่น บริษัทที่มียอดขายระดับพันล้านเหรียญ ย่อมโตยากกว่าบริษัทที่มียอดขายแค่สองร้อยล้านเหรียญ อีกทั้งจำนวนหุ้นและสภาพคล่องของหุ้นตัวใหญ่ก็มีมากกว่า มันอาจซื้อขายได้ง่ายกว่าหุ้นขนาดเล็กก็จริง แต่คุณก็จะไม่ค่อยได้เห็นหุ้นขนาดใหญ่วิ่งแรงเท่าหุ้นขนาดเล็ก"


จริงหรือ ?


คำถามนี้มาจากบทที่สองของหนังสือ Momentum Masters ซึ่งผู้ให้สัมภาษณ์คือคุณ David Ryan ชายผู้มีดีกรีเป็นถึงศิษย์เอกของ William Oniel ที่คิดค้นระบบ CANSLIM อันโด่งดัง อีกทั้งยังสามารถทำผลตอบแทนได้นับร้อยเปอร์เซ็นต์ต่อปีเสียด้วย เพราะฉะนั้น คำตอบของเขาจึงมีความน่าเชื่อถือมากกว่าคนอื่น เพราะประสบการณ์มากกว่า อยู่ในตลาดมานานกว่า และอาจรวมถึงมีกำไรมากกว่าคนอื่น




แต่หุ้นใหญ่มีข้อดีอะไรบ้างล่ะ ?


ข้อดีสำคัญของหุ้นใหญ่คือเรื่องของ "สภาพคล่อง" เราอาจเคยเห็นหุ้นชื่อแปลกๆ ที่เราไม่เคยรู้มาก่อนด้วยซ้ำไปว่าอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ มีราคาที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1-2 เด้งภายในเวลาแค่เดือนเดียว เงินหนึ่งแสนจะเป็นสองแสน เงินหนึ่งล้านจะเป็นสองล้าน และเงินหนึ่งร้อยล้านจะเป็นเงินสองร้อยล้าน รวยง่ายและไวจนไม่รู้จะทำงานอย่างอื่นไปทำไม


แต่มันก็เป็นเพียงแค่ความเพ้อฝัน เนื่องจากหุ้นเล็กหลายๆ ตัวมีมูลค่าตลาด (market cap) อาจไม่ถึง 1 พันล้านบาทด้วยซ้ำไป การที่ใครสักคนที่มีเงินมากๆ แล้วเข้าซื้อ แรงเงินนั้นย่อมส่งผลต่อกราฟราคาไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ส่วนตอนขายนั้นอาจยากกว่าเสียด้วยซ้ำ ลองคิดดูว่าหากเราถือหุ้นของ XYZ อยู่ 1 ล้านหุ้น แต่บิดออฟเฟอร์ของราคาอยู่ที่เพียงช่องละหลักหมื่น มันยากมากที่จะขายหุ้นแล้วราคาไม่ลง ทุกช่องที่ลง ย่อมหมายถึงกำไรที่เราควรจะได้ ก็ลดน้อยลงไปเรื่อยๆ




กลับกัน ถ้าเป็นหุ้นขนาดใหญ่ การเติบโตอาจช้ากว่า ผลกำไรโต 30% ต่อปีอาจจะมีนานๆ ครั้ง และมูลค่าตลาดหลายหมื่นล้านบาทก็เป็นอุปสรรคต่อการเคลื่อนไหวของราคาหุ้น แต่ขึ้นช้าๆ แบบชัวร์ๆ สุดท้ายมันก็ขึ้นเหมือนกัน จริงไหมครับ ?


ถ้าทุกคนยังจำกันได้ ตอนหุ้น PTT ราคาเหลือต่ำกว่า 200 บาท วันนั้นคงไม่มีใครคิดว่าราคาจะฟื้นตัวกลับมาได้เร็ว แต่หุ้นที่ใหญ่ที่สุดในตลาดหุ้นไทย ก็ปรับตัวขึ้นไปได้กว่า 200% ในเวลาสองปีนิดๆ เท่านั้น มันอาจเทียบไม่ได้กับหุ้นขนาดเล็กตัวอื่นๆ แต่ลองมองมุมกลับกันว่า หากเรามีเงินทุนในมือมากซะจนเข้าซื้อหุ้นตัวเล็กไม่ได้ สุดท้ายเราก็ต้องซื้อหุ้นตัวใหญ่


อีกทั้งหุ้นตัวเล็กเกือบทั้งหมดจะมีความผันผวนของราคามากกว่า การควบคุมความเสี่ยงย่อมต้องรัดกุมขึ้น สุดท้ายผลกำไรในหุ้นตัวเล็กบางตัว อาจไม่ต่างจากการถือหุ้นใหญ่ ดังนั้น ไม่ว่าจะหุ้นเล็กหรือใหญ่ก็ดีทั้งหมด ขอแค่เป็นหุ้นที่เหมาะกับสไตล์การลงทุนของเรา




ซึ่งเทรดเดอร์ที่ให้สัมภาษณ์ในหนังสือ Momentum Masters ทั้งหมด (รวมถึงคุณ David Ryan ที่กล่าวถึงในตอนต้น) ต่างก็บอกว่าชื่นชอบในหุ้นขนาดกลางถึงเล็ก แต่ก็พร้อมเสมอหากต้องเขาลงทุนในหุ้นตัวใหญ่ เพียงแต่อาจมีกลยุทธ์ต่างกันเล็กน้อย


"สำหรับหุ้นขนาดใหญ่ ผมพยายามซื้อให้เร็วในช่วงที่ตลาดปรับฐานอยู่ ช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการซื้อหุ้นขนาดใหญ่คือเมื่อสิ้นสุดภาวะตลาดหมี หรือหลังจากตลาดปรับฐานลงมาลึกๆ แต่สำหรับหุ้นขนาดเล็ก ผมมักจะเทรดเมื่อราคาอยู่บริเวณใกล้จุดสูงสุดของมัน เพราะราคาหุ้นขนาดเล็กมักจะมีประสิทธิภาพน้อยกว่า ผมจึงไม่จำเป็นต้องอยู่เหนือความคิดของคนส่วนใหญ่ หรือพยายามซื้อให้ได้ราคาต่ำกว่าคนอืน"


สรุปจากหนังสือ โมเมนตัม มาสเตอร์

 

 

 

 

ติดตามความรู้เพิ่มเติมได้ที่ FACEBOOK, LINE, WEBSITE

INVESTING.in.th — Happy Investing
ร้านหนังสือของนักลงทุน

 

 

  แหล่งอ้างอิง  

หนังสือโมเมนตัม มาสเตอร์ : www.investing.in.th/product/48977/โมเมนตัม-มาสเตอร์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้