รีวิวหนังสือ เหนือกว่าวอลสตรีท

Last updated: 2 ก.พ. 2562  | 


Introduction


ว่ากันไปว่ากันมาแล้ว . . . ในตลาดหุ้นนั้น มีสิ่งหนึ่งที่เราต่างเฝ้ามองกันอย่างไม่ลดละ และฉงนกับการเปลี่ยนแปลงของมันตลอดเวลา บางทีเราอาจจะสนใจมันมากกว่าการเปลี่ยนถ่านรีโมทแอร์ที่ห้องนอน หรือการอ่านบทความ ณ ตอนนี้ เสียอีก
ปฎิเสธไม่ได้เลยว่า นั่นคือ “การขึ้นและลงของราคาหุ้น”
หนังสือ One up on Wall Street จะมาช่วยคลายอาการติดพัน “ตัวเลข” แสนกวนใจ พร้อมเปิดโลกทัศน์ “ความน่าฉงนของราคา” ว่ามันเกิดจากอะไรกันแน่ !!??




Story


  • Peter Lynch เป็นอดีตผู้จัดการกองทุน ฟิเดลลิตี้แม็คเจ็ลลัน ตลอด 13 ปี นับตั้งแต่ ปี 1977 ถึง ปี 1990
    แม้จะพบวิกฤติ Black Monday เมื่อปี 1987 แต่เขาก็สามารถบริหารกองทุนจนให้ผลตอบแทนเฉลี่ยถึง 29% ต่อปี!
  • หนังสือเล่มนี้จะพาเราไปสำรวจหลักการลงทุนของ Peter Lynch ทั้งวิธีการเลือกหุ้น แง่คิดการลงทุน, วิธีดูงบและตัวเลขการเงินต่างๆ ผ่านคำอธิบายที่แสนกระชับ พร้อมตัวอย่างประกอบการเล่าเรื่องที่สนุกและชัดเจน
  • จากทั้งหมดนี้ เมื่ออ่านจบแล้ว ท่านผู้อ่านจะไม่แปลกใจเลยว่าทำไมหลายครั้ง ปีเตอร์ ลินซ์ สามารถหา “หุ้นหลายเด้ง” ในทุกๆ ปี แม้จะผ่านมาเกือบ 30 ปี จนถึงปัจจุบันก็ตาม




Highlight


  • หลังอ่านหนังสือเล่มนี้ผมชอบตรงส่วน “หลักการแยกประเภทหุ้น” มากครับ อธิบายคร่าวๆ จะเป็นส่วนช่วยให้เราเข้าใจวิธีรับมือกับหุ้นในตลาด ผ่านเรื่องเล่าของหุ้นเปรียบเทียบตามบุคลิกของคนหลากหลายประเภท พร้อมวิธีรับมือกับพวกเขาอย่างเหมาะสม
  • ที่สำคัญ หนังสือเล่มนี้สามารถช่วยเป็นที่พึ่งพิงเวลารับมือ ภาวะที่อารมณ์อยู่เหนือเหตุผล ในช่วง “วิกฤติ” หรือ “ตอนตลาดผันผวน” โดยจะเล่าผ่านบทเรียนของตัวนักเขียนเองเลยครับ (ปีเตอร์ ลินซ์ เคยสูญเงินกว่า 2 พันล้านเหรียญภายในวันเดียวมาแล้ว ดังนั้นการเรียนรู้การรับมือกับ “อารมณ์” และ “ความเสียหาย” จะช่วยให้เราจัดการ “จิตใจ” เราในอนาคตได้ดีขึ้นครับ)




หนังสือเล่มนี้
เหมาะกับใคร


สำหรับผมแล้ว นี่คือหนังสือที่ “อยู่เหนือการเวลา” อย่างแท้จริง สามารถหยิบมาอ่านกี่รอบ ก็จะได้มุมมองใหม่ๆ เสมอ ไม่ว่าท่านจะเป็น มือใหม่, ผู้ที่เข้าตลาดซึ่งผ่านการ “รับน้อง” มาสักระยะแล้ว, หรือมือเก๋า โดยผมขอจำแนกตามความเหมาะสมได้ดังนี้


 1  มือใหม่ สำหรับนักลงทุนที่เริ่มลงทุนไม่นาน และอาจเข้าตลาดมาเพราะอาจหลงคารม วาทะจากผู้เชี่ยวชาญในหนังสือหมวด “สร้างแรงบันดาลใจ” หรือ “ฮาวทู” (แบบผม) หนังสือเล่มนี้จะสอนให้ไม่ติดกับดักแห่งหุ้นซิ่ง หุ้นปั่น และสอนให้เราเลือกหุ้นที่ดี (การเลือกหุ้นดีก็เหมือนเป็นกันชนเบื้องต้นที่ไม่ให้เราเจ็บตัวมากนักหากเลือกหุ้นผิด)


 2  คนที่ผ่านการ “รับน้อง” มาแล้ว หากท่านไหนเข้าใจดีกับการ “รับน้อง” ของตลาด โปรดเข้าใจว่าหนังสือเล่มนี้ จะช่วยให้ท่านไม่เดียวดายแน่นอน โดยเฉพาะในส่วนท้ายหนังสือ จะพาผู้อ่าน Back to Basic อีกรอบ และทบทวน “แก่นแท้ของหนังสือ” อีกครั้ง (เพราะแก่นแท้ของหนังสือนี้แหละ จะช่วยเราไม่เขวกับโลกของตลาดทุนนี้ครับ)


 3  ผู้ที่อยู่รอดในตลาดมานานแล้ว สำหรับคนที่มีประสบการณ์มากกว่า 10 ปี อาจเคยเห็นหุ้นเด้งมาแล้วหลายครั้ง หนังสือเล่มนี้จะช่วยเราให้เข้าใจ “เหตุและผล” ของการขึ้น-ลงในตลาดมากขึ้น และอาจช่วยรับมือกับจิตใจของเราตอนที่เสียหายหนักได้ครับ (โดยเฉพาะตอนวิกฤติ)




Epilogue


สำหรับนักลงทุนมือใหม่ หนังสือ One up on wall street เป็นปฐมบทที่ดีสำหรับการเอาตัวรอดในตลาดหุ้น ณ ปัจจุบัน นอกจากนี้ หนังสือในเครือ Fidelity ก็เป็นทางเลือกที่ดีสำหรับนักลงทุนที่สนใจโลกแห่งการเงินและการลงทุน ในโลกการเงินนี้ยังมีหลายสิ่งที่ให้เราเรียนรู้อีกมาก หลายคนอาจจะได้ยินติดหูว่า “การลงทุน มีความเสี่ยง” แต่แท้จริงแล้ว ความเสี่ยงนั้นเกิดจากการที่เรา “ไม่รู้ ในสิ่งที่เราลงทุน” เสียมากกว่า


สุดท้ายนี้ ผมขอฝากหนังสือ One up on wall street ไว้ในอ้อมอกอ้อมใจนักลงทุนทุกท่านนะครับ หากผมอ่านหนังสือที่ดีและน่าสนใจ จะมารีวิวแบ่งปันอีกแน่นอนครับ


P.S. เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยหลังการอ่าน

  • ในเรื่องของ Mood and Tone ระหว่างอ่าน หากอ่านแล้วรู้สึก “คลับคล้ายคลับคลา” กับหนังสือ “ตีแตก” ของ ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร ลองพลิกกลับมาหน้าแรก อาจจะไม่แปลกใจเลย เพราะว่า ดร.นิเวศน์ ท่านเป็นคนแปลหนังสือเล่มนี้นี่เอง
  • ข้อเสียของหนังสือเล่มนี้ก็คือ การ Localization หรือการแปลให้เรารู้สึกอ่าน “สนุก” อาจจะไม่เต็มสิบ ด้วยเหตุที่ตัวต้นฉบับ Tone อาจจะ Serious อยู่แล้ว
  • ปัญหาที่จะพบได้ตอนเริ่มอ่าน คือจำนวนชื่อบริษัทที่ถาโถมเข้ามาในบทต้นๆ นี่แหละครับ (แต่ละบริษัทในหนังสือนี่คือ บริษัทต่างชาติ เมื่อ 30 ปีที่แล้ว) แต่ปัญหานี้จะหมดไป เพราะเมื่อถึงจุดหนึ่งเราจะจดจำเอกลักษณ์ละชื่อของบริษัทได้เอง ผ่านสไตล์การเล่าเรื่องของปีเตอร์ ลินซ์ ที่ไม่เหมือนใครครับ
  • (พูดถึงชื่อบริษัทแล้ว ก็มีเรื่องน่าขันสำหรับ “ชื่อบริษัท” อยู่จุดหนึ่งด้วยครับ ว่าทำไมเราถึงจำชื่อบริษัทบางที่ไม่ค่อยได้กันนะ? ผมใบ้ให้ว่าอยู่ตรงช่วงกลางหนังสือ โดยผมขออุบไว้แค่นี้ ให้ผู้อ่านไปอ่านเองนะครับ ฮา)


ฐานุพงศ์ จิรโอฬารพัฒน์

 

 

 

 

ติดตามความรู้เพิ่มเติมได้ที่ FACEBOOK, LINE, WEBSITE

INVESTING.in.th — Happy Investing
ร้านหนังสือของนักลงทุน

 

 

  แหล่งอ้างอิง  

หนังสือเหนือกว่าวอลสตรีท : www.investing.in.th/product/27114/เหนือกว่าวอลสตรีท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้