Last updated: 11 ก.พ. 2562 |
วิธีการลงทุนของเทรดเดอร์ (หรือนักลงทุน) ส่วนใหญ่มักจะเต็มไปด้วยความสลับซับซ้อน บางคนอาจบอกว่าดูค่า PE ทุกครั้งเวลาจะซื้อ แต่ประเด็นคือ วิธีการลงทุนหลายๆ อย่างกลับดูไม่ค่อยชัดเจนเท่าไหร่ (ค่า PE ที่เหมาะสมคือเท่าไหร่กันล่ะ?) หรือบางคนอาจจะบอกแบบละเอียด แต่ก็ยากที่นักลงทุนทั่วไปจะทำตามได้
โดยเฉพาะประเด็นในเรื่องของ ซื้ออะไร ซื้อเมื่อไหร่ และขายเมื่อไหร่ สามอย่างนี้เองที่มีนักลงทุนไม่กี่คนเท่านั้นที่จะยอมบอกให้ แต่ไม่ใช่สำหรับมาร์ค มิเนอร์วินี (Mark Minervini) ผู้บัญญัติแนวทางการลงทุนแบบ SEPA จนมีสาวกติดตามทั่วโลก
คล้าย CANSLIM
แนวทางการลงทุนแบบ SEPA จะมีความคล้ายคลึงวิธีการแบบ CANSLIM (ของวิลเลียม โอนีล) ตรงที่เป็นการประยุกต์ใช้ปัจจัยพื้นฐานร่วมกับชาร์ทราคาหุ้น เพื่อให้ได้หุ้นชั้นดี ในราคาที่ดี พร้อมหาจุดขายได้อย่างเหมาะสม ซึ่งเปรียบเสมือนการอุดรอยรั่วของ "จุดอ่อน" ที่การใช้ปัจจัยพื้นฐานหรือปัจจัยทางเทคนิคอย่างเดียวต้องเผชิญ
ในวิธีการแบบ CANSLIM คุณโอนีลจะให้น้ำหนักกับการซื้อหุ้นเมื่อราคาทำจุดสูงสุดใหม่ พร้อมทั้งมีกฎเกี่ยวกับปัจจัยพื้นฐานมากมาย กำไรรายไตรมาสต้องดี กำไรายปีต้องโต ROE ต้องเกิน X เปอร์เซ็นต์ ด้วยสภาพตลาดในปัจจุบันที่นักลงทุนมีความรู้มากขึ้น (นักลงทุนเดินมา 10 คน เราอาจเจออย่างน้อย 1 คนที่ใช้กลยุทธ์ CANSLIM) แนวทางดังกล่าวจึงให้ประสิทธิภาพที่ด้อยกว่าในอดีต
แนวทาง SEPA ของคุณมิเนอร์วินีจึงเป็นเหมือนเวอร์ชั่นปรับปรุงของ CANSLIM โดยเฉพาะเรื่องของจุดเข้าซื้อ
ซื้อตอนย่อ
อุปสรรคสำคัญของการซื้อตอนที่ราคาหุ้นทำจุดสูงสุดใหม่ คือการย่อตัว มีนับครั้งไม่ถ้วนที่เราเห็นว่าหุ้นตัวนั้นมีราคาเป็นขาขึ้นอย่างสวยงาม ราคาทำจุดสูงสุดใหม่ครั้งแล้วครั้งเล่า แต่เมื่อเราเข้าซื้อ หุ้นกลับร่วงหนักราวกับรู้ว่าเราเป็นบุคคลต้องสาป SEPA จึงเน้นการซื้อหุ้นก่อนที่ราคาจะขึ้นแรง โดยสังเกตจากสองส่วนสำคัญคือ พฤติกรรมราคา และ ปริมาณการซื้อขาย
กราฟราคาหุ้น GULF รายวัน จุดที่เลือกไว้คือช่วงที่ราคากลับตัวพร้อมกับปริมาณการซื้อขายที่เพิ่มขึ้น
กราฟราคาหุ้น BEM รายวันก็เช่นกัน
กราฟหุ้น OCEAN รายวัน แม้จะเป็นหุ้นตัวเล็กแต่ก็มีสัญญาณกลับตัวให้เห็นค่อนข้างชัดเจน
แนวคิดก็คือ หากราคาหุ้นมีลักษณะกลับตัวจากจุดต่ำ พร้อมกับมีแรงซื้อเพิ่มเข้ามาแบบมีนัย ก็เป็นไปได้ว่าราคากำลังจะกลับตัวในไม่ช้า แต่ทั้งนี้ก็ต้องมาพร้อมกับการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานประกอบด้วย เช่น กำไรที่โตขึ้น บริษัทมีสินค้าใหม่ๆ ขยายธุรกิจใหม่ หรือมีต้นทุนการผลิตต่ำลง ฯลฯ
การขายและความเสี่ยง
หุ้นขาขึ้นทุกตัวต้องมีช่วงเวลาที่จบรอบ สำหรับกลยุทธ์แบบ SEPA หนึ่งในจุดขายออกอย่างง่ายที่สุดก็คือ "ขายเมื่อราคาหลุดเส้นค่าเฉลี่ย 20 วัน" อีกเรื่องคือการควบคุมความเสี่ยง แม้กลยุทธ์นี้จะสร้างผลกำไรมหาศาลให้คุณมิเนอร์วินีได้ในเวลาไม่กี่ปี (เงิน 1 แสนเหรียญจะเติบโตขึ้นเป็น 30 ล้านเหรียญในเวลาเพียง 5 ปีเท่านั้น) แต่ก็ต้องใช้งานพร้อมกับการคุมความเสี่ยงเสมอ
จากในหนังสือโมเมนตัมมาสเตอร์ที่เขาได้ให้สัมภาษณ์ไว้ เขากล่าวว่าความเสี่ยงสำหรับพอร์ตโฟลิโอของเขาจะอยู่ที่ราวๆ 1-2% เท่านั้นเอง ความหมายก็คือ ด้วยเงินทุน 1 ล้านบาท จะยอมขาดทุนสูงสุดไม่เกิน 1-2 หมื่นบาทเท่านั้น ยิ่งขาดทุนน้อยเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำกำไรกลับมาได้โดยง่าย
ข้อเสียของ SEPA
กลยุทธ์แบบ Trend Following เกือบทุกแบบล้วนมีข้อเสียคล้ายๆ กันคือ มีโอกาสผิดทางสูง (เดาถูกได้ 30-40% ก็เก่งแล้ว) และราคาย่อตัวแต่ละครั้งที่รุนแรง การควบคุมความเสี่ยงจึงไม่ได้จบที่เฉพาะการขายตัดขาดทุน แต่นักลงทุนอย่างเราๆ ก็อาจต้องพิจารณาทางเลือกอื่นเพิ่มเติมด้วย จะขายล็อกกำไรตอนไหน ถ้าราคาไม่เป็นไปอย่างที่คิดจะทำอย่างไร ฯลฯ
เนื่องจากวิธีการลงทุนลักษณะนี้จะต้องใช้เวลาถือหุ้นประมาณหนึ่ง โอกาสเกิดเรื่องไม่คาดฝันจึงมีสิทธิ์เกิดขึ้นได้ง่าย กลยุทธ์ SEPA จึงต้องมีการปรับให้เข้ากับตลาดหุ้นไทยด้วยเช่นกัน
ติดตามความรู้เพิ่มเติมได้ที่ FACEBOOK, LINE, WEBSITE
INVESTING.in.th — Happy Investing
ร้านหนังสือของนักลงทุน
แหล่งอ้างอิง
กลยุทธ์การเทรดแบบ SEPA : https://www.finnomena.com/wealthguru/sepa-trading/
Trend Template สูตรคัดกรองหุ้นสไตล์ Mark Minervini : http://www.siamquant.com/mark-minervini-trend-template-style/
กว่าจะเป็น Mark Minervini : https://www.zyo71.com/2018/04/mark-minervini_6.html