Last updated: 2019-02-14 |
ฟองสบู่นั้นเกิดจากหลายสาเหตุ
โดยรวมแล้วเกิดจากแรงซื้อในสินทรัพย์อะไรบางอย่าง ที่มากเสียจนทำให้ราคามันผิดเพี้ยนไปจากความจริง แล้วสุดท้ายราคาก็ร่วงอย่างรุนแรง นั่นคือฟองสบู่ แต่ถ้ามองให้ลึกลงไปอีกขั้น อะไรกันที่ส่งผลให้เกิดแรงซื้อมหาศาลจนนำไปสู่ฟองสบู่ได้
วิกฤตหลายๆ ครั้งมักเกิดจากสาเหตุอันน่าประหลาด ปี 2008 ที่เกิดขึ้นเพราะสินเชื่อด้อยคุณภาพ ที่น่าแปลกมากว่าสถาบันการเงินปล่อยกู้ให้กับคนอย่างหละหลวมได้อย่างไร, ปี 1997 กับวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง ทำไมคนจำนวนมากถึงคิดว่าการเล่นหุ้นมันง่ายดายขนาดนั้น หรือในปี 2000 กับวิกฤตฟองสบู่ dotcom อะไรดลใจให้คนซื้อหุ้นเทคโนโลยีที่ไม่มีแม้แต่กำไร แล้วบอกว่านั่นเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า
คนที่เหมาะสมจะตอบคำถามนี้ได้ดีที่สุดคงต้องเป็นคุณ Robert J. Shiller นักเศรษฐศาสตร์ผู้เขียนหนังสือ เอาชนะฟองสบู่ หยั่งรู้สัญญาณตลาดล่ม ที่วางจำหน่ายในช่วงปี 2000 ก่อนที่ตลาดหุ้นสหรัฐจะฟองสบู่แตกในไม่กี่วันเท่านั้นเอง
และต่อไปนี้ คือสาเหตุสำคัญที่ทำให้ฟองสบู่เร่งตัวจนแตกในที่สุด กระทั่งความรักก็อาจเป็นตัวเร่งให้เกิดฟองสบู่แบบไม่รู้ตัว โดยเนื้อหานี้จะกล่าวถึงวิกฤต dotcom ในช่วงปี 2000 และต้องไม่ลืมว่า เขาเขียนเนื้อหานี้ลงในหนังสือก่อนที่จะเกิดวิกฤตไม่นานนัก
1 อินเทอร์เน็ต
กราฟดัชนี NASDAQ รายสัปดาห์ในช่วงปี 1999 จะเห็นสภาวะของฟองสบู่ในตลาดหุ้นได้ชัดเจน ก่อนที่จะร่วงหนักในปี 2000
ปัจจัยแรกสุดที่ทำให้เกิดฟองสบู่อินเทอร์เน็ตก็คืออินเทอร์เน็ต แต่ช้าก่อน มันมีอะไรที่ลึกซึ่งกว่านั้น ผู้เขียนกล่าวว่าในช่วงก่อนปี 2000 ทุกคนต่างมองอินเทอร์เน็ตเป็นเหมือนความหวังใหม่ของมวลทนุษย์ นอกจากจะทำให้คนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารเร็วขึ้น หลายคนเชื่อกันว่ามันจะทำให้ต้นทุนของธุรกิจต่างๆ ถูกลง (เพราะมีเทคโนโลยีดีกว่าเดิม) และบริษัทที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับ dotcom ทั้งหลายก็น่าจะทำเงินกันได้อย่างมหาศาล
แต่ความจริงแล้ว บริษัทหลายๆ แห่งต่างทำธุรกิจราวกับเน้นแข่งกันขาดทุน เพราะไม่มีใครทำกำไรได้เท่าไหร่นัก ราคาหุ้นที่เพิ่มขึ้นจึงเป็นเพราะความคาดหวังมากกว่า นี่เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดฟองสบู่ข้อแรก
2 ประชากร
ประการต่อมาอาจเป็นเรื่องของประชากร จำนวนประชากรสหรัฐเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงยุค baby boomer (เป็นช่วงยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ทหารกลับมาหาภรรยาแสนรักที่เฝ้ารออยู่ที่บ้าน เราน่าจะพอเดาได้ว่าความรักทำให้ประชากรเพิ่มขึ้นได้ยังไง) ประชากรที่เพิ่มขึ้นย่อมมาพร้อมกับการผลิตและการบริโภคที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน สิ่งนี้เองเป็นตัวผลักดันให้เศรษฐกิจเติบโตได้ คนทำงานมากขึ้น ย่อมมีเงินมากขึ้น มีเงินใช้จ่ายมากขึ้น รวมถึงมีเงินไปเก็บออมและลงทุนมากขึ้น
แม้แต่เรื่องค่านิยม working woman คุณชิลเลอร์ก็มองว่ามีผล ผู้หญิงที่ถูกยกย่องเมื่อนานมาแล้วคือคนที่อยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือน แต่ความเท่าเทียมทางเพศคือสิ่งที่ผลักดันให้ผู้หญิงออกมาทำงานไม่ต่างจากชาย แรงงานที่เพิ่มขึ้นนี้เองส่งผลให้การผลิต การบริโภค และเศรษฐกิจภาพรวมขยายตัวขึ้น และเช่นเคย มีเงินไหลเข้าตลาดการออมและการลงทุนมากขึ้น
คำถามต่อมาคือ ใครจะมาเล่นหุ้นกันทุกคน ? คนมีเงินมากขึ้นไม่ได้แปลว่าเขาจะเอาเงินมาใส่ในตลาดหุ้นสักหน่อย แต่ปัจจัยข้อสามคือลมที่จะมาช่วย “ขยาย” ฟองสบู่ให้ใหญ่ขึ้น
3 กองทุนรวม
กองทุนรวมไม่ใช่สิ่งที่เพิ่งจะถือกำเนิดขึ้นมันมีมานานแล้วตั้งแต่ก่อนปี 1929 หรือช่วง great depression เสียอีก โดยใช้ชื่อว่าทรัสต์เพื่อการลงทุน แต่เพราะวิกฤตในปี 1929 ทำให้กองทรัสต์เหล่านั้นขาดทุนบักโกรก สาธารณะชนมองว่าทรัสต์พวกนี้เองที่ลงทุนแบบไม่รับผิดชอบต่อเงินของลูกค้า และสร้างความร่ำรวยด้วยค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บ กองทรัสต์จึงหายไปจากสารบบพักใหญ่ ก่อนที่จะกลับมาอีกครั้งในชื่อของกองทุนรวม
ดัชนี Dow Jones ในช่วงปี 1929 ดัชนีร่วงลงจาก 380 จุดมาเหลือเพียงแค่ 40 จุด
คอนเซปของกองทุนรวมคือการให้ผู้ที่มีความรู้ความสามารถมาบริหารเงินแทน เราจึงไม่ต้องปวดหัวกับการเลือกหุ้นเองอีกต่อไป สิ่งนี้ทำให้คนนำเงินมาใส่กองทุนรวมมากขึ้น และกองทุนรวมจะไม่มีทางได้รับความนิยมเหมือนทุกวันนี้หากปราศจากสิ่งที่เรียกว่า 401(k)
4 401(k)
คอนเซปของ 401(k) มีความคล้ายคลึงกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของไทย ลูกจ้างเลือกที่จะออมเงินใส่กองทุนรวมเท่าไหร่ก็ได้ โดยที่นายจ้างจะสมทบให้ในเปอร์เซ็นต์เท่าๆ กัน จุดสำคัญอยู่ที่ตรงนี้เอง การมี 401(k) จึงเป็นเหมือนข้อบังคับทางอ้อมให้คนลงทุนผ่านกองทุนรวมมากขึ้น อีกทั้งช่วงดังกล่าว คนก็เริ่มให้ความสนใจกับการวางแผนเกษียณอายุ กองทุนรวมจึงได้รับความนิยมโดยปริยาย
และจากปัจจัยข้อ 2 ในเรื่องของประชากรกลุ่ม baby boomer ก็ยิ่งเสริมให้เม็ดเงินเข้าสู่ตลาดหุ้นมากขึ้นไปอีก คนวัยทำงานหลายล้านคน ทำงานพร้อมๆ กัน ได้เงินพร้อมๆ กัน วางแผนเกษียณอายุพร้อมๆ กัน และซื้อกองทุนรวมพร้อมกันอีก จึงนำไปสู่ฟองสบู่ตลาดหุ้นในปี 1990
5 สื่อประโคมข่าว
เมื่อหลายสิบปีก่อนเรายังไม่ได้มีช่องข่าวแบบเป็นกิจลักษณะมากนัก เมื่อรายงานข่าวเริ่มออกสู่โทรทัศน์ โดยเฉพาะข่าวเศรษฐกิจและการลงทุน คนทั่วไปจึงได้รับรู้ข่าวสารเกี่ยวกับตลาดหุ้นและกองทุนรวมมากขึ้น ซึ่งคุณชิลเลอร์กล่าวว่าโฆษณากองทุนรวมถูกประโคมอย่างหนัก ทั้งหมดนี้จึงทำให้บัญชีซื้อขายกองทุนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เม็ดเงินลงทุนก็ไหลบ่าเข้าตลาดหุ้นมากขึ้น
บทวิเคราะห์จากบริษัทหลักทรัพย์ก็เช่นกัน ในปี 1999 มีบทวิเคราะห์เพียงแค่ 1% ที่ให้คำแนะนำ “ขาย” แต่ช่วงหลายปีก่อนหน้านั้น คำแนะนำว่าขายมีสัดส่วนถึงกว่า 9% ของคำแนะนำทั้งหมด นักลงทุนจึงกล้าลงทุนในตลาดหุ้นต่อไป แม้ฟองสบู่จะขยายตัวอย่างเต็มที่แล้ว
ฟองสบู่ในปัจจุบัน
ทั้งหมดที่กล่าวมา (รวมถึงปัจจัยอื่นอีกมากที่อยู่ในหนังสือ) คือสิ่งที่นำพาไปสู่วิกฤต dotcom ในปี 2000 สิ่งที่อยากให้มองจริงๆ ไม่ใช่เรื่องจังหวะเวลาของคุณชิลเลอร์ที่วางขายหนังสือเล่มนี้ก่อนฟองสบู่จะแตกไม่กี่วัน แต่ความน่าทึ่งคือความสามารถของเขาที่สามารถวิเคราะห์ได้ว่าสิ่งต่างๆ มีความสัมพันธ์ต่อฟองสบู่มากกว่าที่คิด (กระทั่งเรื่องของตัวเลือกที่ให้กำหนดสัดส่วนการลงทุนในกองทุนรวมประเภทต่างๆ แบบเป็นชอยส์ ก็ยังมีผลต่อตลาดหุ้นแบบคาดไม่ถึง)
กราฟดัชนี Dow Jones ในปัจจุบัน
สำหรับปัจจุบัน คุณชิลเลอร์มองว่ามีอยู่ 2-3 ปัจจัยที่ทำให้ฟองสบู่ลูกใหม่เริ่มขยายตัวช้าๆ เรื่องแรกคืออัตราดอกเบี้ยต่ำจนนักลงทุนเลือกสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น, สองคือเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าขึ้นจนอาจจะมาแย่งงานในหลายๆ อาชีพ ความกลัวนี้เองทำให้คนออมเงินกับตลาดหุ้นเพื่อเป็นเงินออมระยะยาวมากขึ้น (เผื่อตกงาน), และคนรวยที่ยิ่งรวยขึ้นก็ก่อให้เกิดฟองสบู่ได้ เพราะเงินที่มากขึ้นย่อมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น การแย่งแหล่งผลตอบแทนสูงๆ จึงทำให้ราคาของสินทรัพย์เพิ่มขึ้นด้วย
แม้หนังสือฉบับแปลไทยจะวางจำหน่ายมาสักพัก และไม่ได้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจหรือฟองสบู่แตกแต่อย่างใด แต่ข้อสันนิษฐานของคุณ Robert J. Shiller จากในหนังสือ "เอาชนะฟองสบู่ หยั่งรู้สัญญาณตลาดล่ม" ก็ควรค่าแก่การศึกษาไว้ไม่น้อย
มันอาจไม่เกิดขึ้นเหมือนเดิม 100% แต่วิกฤตคือสิ่งที่จะต้องเกิดขึ้น 100% ไม่ช้าก็เร็ว
ติดตามความรู้เพิ่มเติมได้ที่ FACEBOOK, LINE, WEBSITE
INVESTING.in.th — Happy Investing
ร้านหนังสือของนักลงทุน
แหล่งอ้างอิง
สั่งซื้อหนังสือ เอาชนะฟองสบู่ หยั่งรู้สัญญาณตลาดล่ม : www.investing.in.th/product/60449/เอาชนะฟองสบู่-หยั่งรู้สัญญาณตลาดล่ม
Jan 13, 2021
Jan 13, 2021