Last updated: 18 ก.พ. 2562 |
เมื่อถึงคราวที่ต้องซื้อหุ้น นักลงทุนแบบเน้นคุณค่า (รวมถึงกลยุทธ์แบบวีไอ) นอกจากจะต้องจ่ายเงินซื้อหุ้นแล้ว ยังต้องจ่ายเวลาในราคาที่สูงไม่แพ้กัน เพราะโดยมากแล้ว การลงทุนด้วยปัจจัยพื้นฐานอาจต้องใช้เวลาสักพัก เพื่อให้ราคาหุ้นสามารถสะท้อนมูลค่าอย่างที่ควรจะเป็นได้
และบ่อยครั้ง หุ้นที่เราถืออยู่ก็มีโอกาสร่วงลงไป 50% ได้ไม่ยากเลย พื้นฐานทางธุรกิจอาจจะยังดีอยู่ ร้านค้าของบริษัทก็ยังมีคนมาซื้อขายตามปกติ แต่ราคาหุ้นที่ร่วงแรงขนาดนั้น เป็นพระอิฐพระปูนที่ไหนก็ต้องมีหวั่นใจเป็นธรรมดา
แล้วนักลงทุนวีไออย่างเราๆ ผู้ต้องถือหุ้นผ่านร้อนผ่านหนาวมากกว่านักลงทุนกลุ่มอื่น จะมีวิธีการไหนป้องกันความเสี่ยงได้บ้าง นอกจากยอมรับความเจ็บปวดแบบไม่มีทางหลีกเลี่ยง ? ต่อไปนี้คือคำแนะนำจากคุณเซธ คลาร์แมน (Seth Klarman) นักลงทุนระดับโลกที่ทำผลตอบแทนได้กว่า 17% ต่อปี บทความที่เกี่ยวข้อง
1
กระจายความเสี่ยง
เป็นคำตอบแบบพื้นๆ แต่แฝงไปด้วยความธรรมดา และยากที่ใครจะทำได้โดยไร้ข้อกังขา เนื่องจากการกระจายความเสี่ยง หมายถึงการที่เราต้องเอาเงินไปแบ่งลงทุนในหุ้นหลายๆ ตัว ดังนั้น ความคิดแวบหนึ่งของคนทั่วไปจะต้องสงสัยกับวิธีการนี้ว่า แล้วมันจะได้ผลตอบแทนเยอะๆ ได้อย่างไรกันเล่า ?
เพราะแทนที่เราจะเอาเงินไปใส่ในหุ้นหลายตัว สู้เอาเงินไปซื้อหุ้นตัวเดียวทั้งพอร์ตเพื่อฟันกำไรแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วยไม่ดีกว่าหรือ แต่ลองมองมุมกลับว่า หากราคาร่วงลง เราก็ต้องรับผลขาดทุนแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วยเช่นกัน
ด้วยความที่ตลาดหุ้นอเมริกาไม่มีการจำกัด ceiling หรือ floor ของราคาหุ้น สภาวะที่ราคาเกิดร่วงอย่างรุนแรงเกิน 20% คือสิ่งที่เกิดขึ้นได้ปกติ (กระทั่ง 50% ก็ยังมี) คุณคลาร์แมนจึงให้ความสำคัญกับการกระจายความเสี่ยงเป็นลำดับแรก ไม่ใช่ว่าเราเลือกหุ้นไม่เก่งพอจึงต้องกระจายความเสี่ยง แต่เราทำเพื่อป้องกันเหตุการณ์ไม่คาดฝันที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ
แต่การกระจายความเสี่ยงมากเกินไปก็ไม่ใช่เรื่องที่ดีนัก เพราะมันจะส่งผลให้ผลตอบแทนของนักลงทุนต่ำลง การถือหุ้นประมาณ 10-15 ตัวเป็นสัดส่วนที่คุณคลาร์แมนเห็นว่ามีความเหมาะสมที่สุด
2
เฮดจิ้ง
กลยุทธ์นี้เริ่มเป็นที่นิยมแบบเงียบๆ ในประเทศไทย การเฮดจิ้งคือการถือสถานะด้านตรงข้ามกับสถานะที่เรากำลังมีอยู่ ในกรณีของวีไอ การที่เราซื้อหุ้นแล้วถือเพื่อรอให้ราคาปรับตัวขึ้น เท่ากับว่าเรากำลังถือสถานะในฝั่ง long (มีมุมมองว่าราคาจะปรับตัวขึ้นไป) ดังนั้นการเฮดจ์เพื่อป้องกันความเสี่ยง จึงทำด้วยการเข้าไปซื้อสินทรัพย์อะไรก็ตามที่ได้ประโยชน์หากราคาเป็นขาลง
สำหรับคุณคลาร์แมน เขาใช้กลยุทธ์การ short ในดัชนี S&P500 (แต่ไม่มีข้อมูลว่าเขาขายชอร์ทหุ้น หรือชอร์ทฟิวเจอร์ส หรือใช้ออปชั่น) เพื่อป้องกันความเสี่ยงหากตลาดเป็นขาลง แม้หุ้นที่ถืออยู่ในพอร์ตจะขาดทุน แต่สถานะ short ที่เขามีก็สามารถสร้างกำไรจนชดเชยการขาดทุนได้
ในประเทศไทยนั้น นักลงทุนก็สามารถทำแบบเดียวกันได้ด้วยการใช้ตราสารอนุพันธ์เหล่านี้ ซึ่งปัจจุบันก็มีทั้งฟิวเจอร์ส ออปชั่น หุ้นกู้อนุพันธ์ ฯลฯ นักลงทุนสายปัจจัยพื้นฐานในต่างประเทศก็ใช้วิธีการนี้มานานแล้ว ไม่เว้นแม้แต่วอเร็น บัฟเฟตต์
3
ส่วนเผื่อความปลอดภัย
อย่างสุดท้ายของการป้องกันความเสี่ยงคือการซื้อให้ราคาถูกเข้าไว้ เพราะถ้าเหตุการณ์ต่างๆ ไม่เป็นไปอย่างที่คิด ส่วนเผื่อความปลอดภัย (margin of safety) ที่มากกว่าปกติ ก็จะเป็นเหมือนเบาะกันกระแทกเวลาที่ราคาร่วงแรง คุณคลาร์แมนยังได้อธิบายเพิ่มเติมว่า เพราะเขาเองไม่ได้รู้อนาคตมากนัก และคาดการณ์ธุรกิจได้ไม่เก่งเท่าไหร่ การซื้อที่ราคาถูกเข้าไว้จึงเป็นการป้องกันความเสี่ยงจากความไม่รู้ของเขา
3 วิธีป้องกันความเสี่ยงของวีไอ
โดยเซธ คลาร์แมน
ติดตามความรู้เพิ่มเติมได้ที่ FACEBOOK, LINE, WEBSITE
INVESTING.in.th — Happy Investing
ร้านหนังสือของนักลงทุน
แหล่งอ้างอิง
Seth Klarman: Your Ultimate Guide to His Investing : https://www.brokenleginvesting.com/seth-klarman-guide/