สรุปหนังสือ "บริหารเงินอย่างเทรดเดอร์มืออาชีพ" ตอนที่ 6

Last updated: 14 มี.ค. 2562  | 


“ซื้อแล้วลง ขายแล้วขึ้น” ดูเหมือนเป็นคำสามัญประจำตลาดหุ้นที่ทุกคนล้วนต้องเคยเจอ ต่อให้วางแผนดีแค่ไหน รัดกุมเพียงใด ก็ไม่มีทางที่จะคิดถูกได้ทุกครั้ง ไม่มีใครสามารถหาจุดซื้อ “เพียงจุดเดียว” ที่ดีที่สุด หรือจุดขาย “เพียงจุดเดียว” ที่ดีที่สุดได้


สังเกตเห็นอะไรไหมครับ ? คำว่า “เพียงจุดเดียว” เราเคยถามตัวเองบ้างไหมว่า ทำไมเราไม่แบ่งจุดซื้อจุดขายออกเป็นหลายๆ จุดซะเลยล่ะ ?




วิธีการก็ไม่ยาก แทนที่นักลงทุนจะขายหุ้นในราคา X บาทเพียงแค่ครั้งเดียว ซึ่งมีความเสี่ยงที่อาจเกิดการขายหมู ก็แบ่งไม้ทยอยขายก่อนส่วนนึง และหุ้นที่เหลือก็เก็บไว้ทำกำไรต่อไป สมมติเราถือหุ้น XYZ ที่ราคา 5 บาท และปัจจุบันนี้ หุ้นมีการซื้อขายกันที่ราคา 6 บาท พร้อมกับกราฟราคาหุ้นที่หลุดเส้นค่าเฉลี่ย 15 วัน หากว่ากันด้วยหลักเทคนิคอล การที่ราคาหุ้นหลุดเส้นค่าเฉลี่ย สะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มของราคาที่มีสิทธิ์กลับตัวเป็นขาลง


แต่อย่างที่รู้กัน เทคนิคอลไม่ใช่ศาสตร์ครอบจักรวาลขนาดนั้น การขายหุ้นออกไปเพียงเพราะหลุดเส้นค่าเฉลี่ย ไม่ได้มีอะไรมารับประกันว่ามันจะลงจริง แต่ถ้าไม่ขาย ก็ไม่ได้มีอะไรมารับประกันว่าหุ้นจะไม่ลง ดังนั้น เทรดเดอร์อาจตัดสินใจขายหุ้นออกไปส่วนหนึ่ง เช่น 30% ของจำนวนหุ้นที่มีอยู่ ที่เหลืออีก 30% และ 40% ค่อยขายออกเมื่อราคาหุ้นหลุดเส้นค่าเฉลี่ย 35 และ 50 วันตามลำดับ




“แบบนี้กำไรก็น้อยลงน่ะสิ”


ไม่เถียงเลยครับ การทยอยขายออกไปก่อนจะทำให้กำไรหดหาย จากตัวอย่างเดิมที่เราเป็นเจ้าของหุ้น XYZ ราคามันอาจวิ่งไป 50 บาทก็ได้ ถ้าผลลัพธ์ออกมาแบบนี้ กลยุทธ์แบบ buy and hold แล้วไม่ขายเลย ย่อมมีประสิทธิภาพดีกว่า ประเด็นก็คือ ตลาดหุ้นเป็นเหมือนเกมโยนเหรียญ ที่เหรียญไม่ได้มีแค่สองด้าน แต่มีประมาณหลายพันด้าน


มั่นใจได้อย่างไรว่าหุ้นจะขึ้นไปอย่างเดียวตามที่เราคิด ? การแบ่งขายหุ้นออกเป็นส่วนๆ ก็เปรียบเสมือนการซื้อ “ประกัน” ให้กับหุ้นที่ถือ ถ้ามันขึ้นก็ดี แต่ถ้ามันลง อย่างน้อยก้อนแรกที่เราขายก็เป็นก้อนที่ได้กำไรสูงสุด




คุณเบ็นเน็ต แม็คโดเวลล์ ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้


แนวคิดนี้คือสิ่งที่สรุปมาจากหนังสือ “บริหารเงินอย่างเทรดเดอร์มืออาชีพ” เขียนโดยคุณเบ็นเน็ต แม็คโดเวลล์ เรื่องนี้ไม่ใช่ของใหม่ เพราะมันก็เคยถูกพูดถึงเหมือนกันในหนังสือบางเล่ม เช่น หนังสือของมาร์ก มิเนอร์วินี น่าเสียดายที่ไม่ค่อยมีคนใช้มันอย่างแพร่หลายนัก เพราะมันทำให้กำไรลดลง อารมณ์เหมือนเข้าไปขัดลาภคนที่กำลังจะรวย 


แต่ถ้ามองในแง่ความเสี่ยง วิธีนี้ช่วยลดความเสี่ยงของเทรดเดอร์ได้มาก ทั้งความเสี่ยงจากการขาดทุนหนัก และความเสี่ยงจากการขายหมู


หากเราเลือกที่จะขายหุ้นเมื่อราคาหลุดเส้นค่าเฉลี่ย 15 วันเท่านั้น เราอาจขายได้ที่ราคา 6 บาทต่อหุ้น แต่ถ้าราคาหุ้น XYZ วิ่งไปได้ถึง 50 บาท เราก็เสียโอกาส แต่ถ้าเราปรับเปลี่ยนแผนว่าจะขายหุ้นเมื่อราคาหลุดเส้นค่าเฉลี่ย 50 วัน ถ้าราคาหุ้น XYZ ไม่ได้วิ่งขึ้นอย่างที่คิดไว้ กว่าจะได้ขายตัดขาดทุน ราคาก็ลงไปลึกมากแล้ว มองเห็นข้อดีของการแบ่งขายเป็นไม้ๆ กันแล้วหรือยังครับ ?




ใช่ว่าจะใช้กับการแบ่งขายด้วยเส้นค่าเฉลี่ยเพียงอย่างเดียว การแบ่งไม้ตัดขาดทุน เราจะแบ่งขายตามเครื่องมือหรือเป้าหมายราคาทางเทคนิคอื่นๆ ก็ได้ จากตัวอย่างของคุณ Mark Minervini ที่เป็นนักลงทุนสาย trend following เขาเองก็ใช้วิธีการตัดขาดทุนหลายระดับราคาที่เรียกว่า Staggered Stop-Loss ซึ่งคล้ายๆ กับแนวคิดของหนังสือเล่มนี้เช่นกัน  บทความที่เกี่ยวข้อง 


จะประยุกต์ใช้อย่างไรก็ได้ ขอแค่แบ่งจุดตัดขาดทุนให้เหมาะสม ให้แต่ละจุดมีเหตุผลที่ดีพอมารองรับ คำว่า "ซื้อแล้วลง ขายแล้วขึ้น" จะได้ไม่เป็นเหตุการณ์สามัญประจำตลาดหุ้นอีกต่อไป

 

 

 

 

ติดตามความรู้เพิ่มเติมได้ที่ FACEBOOK, LINE, WEBSITE

INVESTING.in.th — Happy Investing
ร้านหนังสือของนักลงทุน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้