Last updated: 2019-04-04 |
ขายหุ้นล้างพอร์ต มักเกิดขึ้นเป็นประจำเวลาหุ้นร่วงหนัก
ทุกคนต่างขายหุ้นหนีตายเพื่อเอาตัวรอด ด้วยเพราะความเชื่อว่า "วิกฤต" หรือ "ขาลงครั้งใหญ่" จะต้องมาแน่ๆ ถ้าอย่างล่าสุดนี้ก็คือช่วงก่อนเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคม 2019 มีนักลงทุนไม่น้อยเลยที่กังวลว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะนำไปสู่ความขัดแย้ง และรีบขายหุ้นจนเกลี้ยงเพื่อความปลอดภัย แต่ที่สุดแล้ว ตลาดหุ้นไทยก็ไม่ได้เกิดอะไรขึ้น จะมีก็แค่หุ้นบางตัวซึ่งเกี่ยวข้องกับนักการเมืองบางท่านเท่านั้นที่ขึ้นลงแบบมีนัย
แล้วคนที่ขายหุ้นล้างพอร์ตเขาทำอะไรผิดรึเปล่า ? ไม่มีอะไรผิดถูกในตลาดหุ้นนะครับ สมมติว่ากรณีที่เลวร้ายที่สุดคือเลือกตั้งแล้วเกิดเหตุความไม่สงบทางการเมือง จนทำให้ดัชนี SET ร่วงไปสัก 10% คนที่ถือหุ้นไว้เหนียวแน่นก็ไม่ได้ทำอะไรผิดเช่นกัน
เพียงแต่ว่า กลยุทธ์การขายหุ้นล้างพอร์ตมันก็มีความเสี่ยง คือความเสี่ยงที่เราจะไม่มีหุ้นอยู่เลยถ้าเหตุการณ์ไม่ได้เลวร้ายอย่างที่คิด
พลาดแค่ไม่กี่วัน
ยากจนไปหลายปี
อ้างอิงจากหนังสือ "เหนือกว่าวอลสตรีท" ซึ่งเขียนโดยปีเตอร์ ลินซ์ (Peter Lynch) อดีตผู้จัดการกองทุนของ Fidelity ที่สร้างผลตอบแทนได้สูงถึง 29% ติดต่อกันกว่า 13 ปี ถึงแม้ผู้จัดการกองทุนอย่างเขาจะไม่สามารถขายหุ้นล้างพอร์ตได้ตามอำเภอใจเหมือนรายย่อย แต่เขาก็ทำการศึกษาโดยเก็บข้อมูลตั้งแต่ปี 1994 จนถึงปี 1999 เพื่อดูว่าการขายหุ้นล้างพอร์ตแบบผิดที่ผิดเวลานั้นจะสร้างความเสียหายได้ขนาดไหน (แถมช่วงนั้นตลาดหุ้นยังเป็นขาขึ้นครั้งใหญ่) โดยสร้างพอร์ตโฟลิโอขึ้นมาสองแบบ
หนังสือเหนือกว่าวอลสตรีท
แบบแรก ถือหุ้นตั้งแต่ปี 1994-1999 โดยไม่ขายหุ้นเลย ส่วนแบบที่สอง ถือตั้งแต่ 1994-1999 เช่นกัน แต่ "หัก" จำนวนวันออกไป 30 วัน ซึ่งเป็น 30 วันที่ตลาดหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นมากที่สุด เป็นตัวแทนพอร์ตโฟลิโอของนักลงทุนผู้โชคร้าย ที่หวังจะขายหุ้นหนีวิกฤต แต่กลับเป็นการขายหมูครั้งใหญ่ถึง 30 ครั้งในรอบ 5 ปี
ผลที่ออกมาก็ไม่ได้เหนือความคาดหมายนัก พอร์ตโฟลิโอแบบแรกมีผลตอบแทนชนะแบบที่สอง แต่ที่น่าสนใจคือ "ความต่าง" ของผลตอบแทน พอร์ตโฟลิโอแบบแรกที่ลงทุนด้วยเงิน 100,000 เหรียญ ได้เติบโตขึ้นเป็น 3.4 แสนเหรียญ (240%) ส่วนแบบที่สองนั้นเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่เพียง 1.5 แสนเหรียญ (50%) เท่านั้น ซึ่งคิดเป็นผลตอบแทนที่ต่างกันถึงเกือบ 5 เท่า เพียงเพราะขายหุ้นพลาดไปแค่ 30 ครั้ง
พลาดหุ้นรายตัว
ก็ไม่ต่างกัน
คราวนี้เราลองมาศึกษาให้ลึกกว่าของคุณปีเตอร์ ลินซ์ อีกสักนิด เนื่องจากเขาทดสอบกับตลาดหุ้นในภาพรวม แต่พอเวลาลงทุนจริง เราไม่ได้ซื้อ SET Index ทั้งกระดานเสียหน่อย (ยกเว้นแต่จะซื้อกองทุนรวม) แต่เราจะซื้อหุ้นเป็นรายตัว สมมติว่าเป็นหุ้น AOT ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2016 ถึงปลายปี 2017 โดยจำลองพอร์ตโฟลิโอเป็น 2 แบบเหมือนที่คุณลินซ์เคยทดสอบ พอร์ตแรกคือซื้อแล้วถืออย่างเดียว ส่วนพอร์ตที่สอง จะหักวันที่หุ้น AOT ขึ้นมากที่สุดออกไป 10 วัน เป็นตัวแทนของนักลงทุนผู้โชคร้ายที่ขายล้างพอร์ตแล้วหุ้นกลับเด้งใส่หน้า
กราฟราคาหุ้น AOT รายวัน ตั้งแต่ปี 2016-2017
พอร์ตแรก เงินลงทุนจะเพิ่มขึ้นจาก 1 แสนบาทไปเป็นประมาณ 2 แสนบาท หรือคิดเป็นผลตอบแทน 100% ส่วนพอร์ตที่สอง เงินลงทุนจะเพิ่มมาอยู่ที่ 1.25 แสนบาท คิดเป็นผลตอบแทนเพียง 25% ขนาดหุ้น AOT ที่มีราคาปรับตัวขึ้นเพียง 2 เท่า การขายหุ้นในจังหวะเวลาที่ผิดยังมีผลลัพธ์ที่ต่างกันขนาดนี้ ก็ไม่ต้องพูดถึงหุ้นขนาดกลางและขนาดเล็กตัวอื่นๆ การขายแบบไร้เหตุผลจนพลาดวันที่หุ้นขึ้นไปเพียงแค่ไม่กี่วัน ย่อมทำให้ผลตอบแทนต่างกันราวกับฟ้ากับเหว
อยู่กับหุ้นให้นาน
สิ่งที่คุณลินซ์ต้องการจะสื่อก็คือ อนาคตเป็นสิ่งที่ไม่มีใครรู้ การที่นักลงทุนขายหุ้นเพียงเพราะคาดว่าตลาดจะร่วงหนักมันดูเป็นอะไรที่ไม่มีเหตุผลนัก ต่อให้ตลาดหุ้นร่วงหนักจริง แต่ธุรกิจที่ผูกติดอยู่กับหุ้นตัวนั้นได้รับผลกระทบหรือไม่ ? อย่างกรณีของหุ้น AOT ที่หุ้นตกอย่างรุนแรงในช่วงเดือนตุลาคมปี 2016 คำถามคือ สถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น ณ ขณะนั้นส่งผลต่อธุรกิจแค่ไหน แม้ราคาหุ้นจะร่วงแรง แต่สนามบินคนก็ยังใช้ เครื่องบินยังคงขึ้นลงทุกวัน นักท่องเที่ยวนับล้านๆ ยังเดินทางเข้าประเทศไทย ไม่มีอะไรผิดปกติ
มันอาจเป็นโอกาสด้วยซ้ำที่ราคาหุ้นร่วงหนัก มันยิ่งทำให้นักลงทุนได้ซื้อของดีในราคาถูกมากขึ้น กลับกัน ถ้าเราขายหุ้นออกไปในเหตุการณ์ตังกล่าว ผ่านไปแค่ 1-2 วัน ราคาหุ้นก็ดีดกลับมาอยู่ที่เดิมให้เจ็บใจเล่นซะอีก แค่อยู่เฉยๆ ก็อาจรวยกว่าคนที่ซื้อขายบ่อยแล้ว
อย่าทำนายตลาด
กราฟราคาหุ้น BEM รายวัน เทียบกับดัชนี SET Index เส้นสีส้ม
ประเด็นเสริมอีกเล็กน้อยคือเรื่องการทำนายตลาด ไม่ปฏิเสธว่าราคาหุ้นเกือบทุกตัวจะขึ้นลงตามตลาดหุ้นในภาพรวม แต่หุ้นตัวที่ "แข็งแกร่ง" มันสามารถสวนกระแสของตลาดได้อยู่บ่อยๆ ล่าสุดก็คือหุ้น BEM ที่ราคาปรับตัวขึ้นมาเกือบ 30% แม้ตลาดในปีที่แล้วจะลงแบบพอกรุ่มกริ่ม 10% ขนาดลงแค่ 10% คนก็กลัวกันแล้วว่าจะเกิดวิกฤต มีไม่น้อยที่ล้างพอร์ต แต่ BEM ก็ยังขึ้นต่อ (อาจเป็นเพราะราคาตอนนั้นที่ยังไม่แพงเมื่อเทียบกับมูลค่า และธุรกิจก็ดีอยู่)
ต่อให้หุ้น BEM ร่วงตามตลาด (รวมถึงหุ้นตัวอื่นๆ) ก็ไม่ใช่เหตุผลให้เราขายล้างพอร์ตเพียงเพราะว่าหุ้นตกหรือตลาดกำลังล่มสลาย เราซื้อหุ้นด้วยเหตุผลอะไรกันเล่า ซื้อเพราะว่า SET Index จะไป 2,000 จุด หรือซื้อเพราะว่าธุรกิจมันดีกันล่ะ ?
หนังสือเหนือกว่าวอลสตรีท
ติดตามความรู้เพิ่มเติมได้ที่ FACEBOOK, LINE, WEBSITE
INVESTING.in.th — Happy Investing
ร้านหนังสือของนักลงทุน
Oct 29, 2020