Last updated: 2021-01-13 |
"แม้การซื้อหุ้นตอนวิกฤตจะเป็นเรื่องดี "
แต่ไม่มีใครรู้ว่าเมื่อไหร่หุ้นจะตกการรอซื้อหุ้นราคาถูกมันมีค่าเสียโอกาสเสมอ
ไม่เคยมีเหตุการณ์ใดในประวัติศาสตร์อเมริกัน ที่สร้างความวิตกกังวลให้กับผู้คนได้ยาวนานกว่าวิกฤตปี 1929
แม้แต่คนที่ไม่ได้เกิดในช่วงนั้นยังอดไม่ได้ที่จะหวาดวิตก และเด็กๆ ที่เกิดจากพ่อแม่ที่เกิดไม่ทันยุคนั้นก็ยังหวาดวิตก
สหรัฐอเมริกามีชีวิตรอดผ่านมาตั้งแต่สงครามกลางเมือง สงครามการปฏิวัติ สงครามโลกทั้งสองครั้ง สงครามเกาหลี สงครามเวียดนาม และการกระทบกระทั่งรุนแรงอีกมากมาย แต่เรายังไม่สามารถหยุดกังวลวิกฤตตลาดหุ้นปี 1929 ได้เสียที
มันเป็นเหตุการณ์อันตรายที่สุดที่ถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ และมันได้ทำให้คนนับล้านตีตัวออกห่างจากการลงทุนในหุ้นแม้มันจะสามารถทำเงินให้แก่พวกเขาได้สูงมาก
ความคิดที่น่ากลัวถูกฝังลึกลงไปในสมองว่าตลาดหุ้นกำลังเดินทางไปสู่วิกฤตครั้งใหม่ ที่จะพรากเงินออมที่พวกเขาเก็บมาทั้งชีวิต และคนที่ดันทุรังจะลงเอยด้วยการเร่ร่อนอยู่บนท้องถนนสวมใส่ผ้าห่มเก่าๆ นอนอยู่ในเพิงคนจรจัด กินถั่วเย็นๆ และขายแอปเปิ้ลและดินสอเพื่อยังชีพ
นั่นคือสิ่งที่คนพูดถึงในช่วงทศวรรษที่ 1930 “ลุงโจกำลังออกไปขายแอปเปิ้ลและดินสอ” มันเป็นอุตสาหกรรมหลักในยุคนั้น
แน่นอนว่ามันเป็นไปได้ที่จะเกิดวิกฤตขึ้นอีก
เรามีวิกฤตครั้งใหญ่ในปี 1987 ครั้งที่เล็กหน่อยในปี 1981-1982 และครั้งใหญ่อีกรอบในปี 1973-1974 แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งหุ้นจะฟื้นตัวกลับมาเสมอ (บทความนี้เขียนเมื่อช่วงปี 1992)
หากมองในแง่ดี วิกฤตถือเป็นโอกาสที่ดีที่จะได้ซื้อหุ้นในราคาถูก แต่ปัญหาหลักก็คือ มันจะใช้เวลานานแค่ไหนในการฟื้นตัว
ดัชนีค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรม Dow Jones ขึ้นไปแตะที่ 1,000 จุดในปี 1972 และมันก็ร่วงลงไปต่ำกว่า 800 จุดในอีกสิบปีให้หลัง ความอดทนของนักลงทุนถูกทดสอบอย่างหนัก แต่ไม่มากเท่าช่วงหลังจากปี 1929 ซึ่งใช้เวลาเกือบ 25 ปีกว่าที่หุ้นจำนวนมากจะฟื้นตัว ทำให้นักลงทุนจำนวนมากเบื่อที่จะรอ และหันหลังให้กับตลาดหุ้นไปในที่สุด
แต่การฟื้นตัวที่ช้าไม่สามารถที่จะโทษตัววิกฤตเพียงอย่างเดียวได้ มันเกี่ยวพันกับการที่เศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ด้วย (Great Depression)
เหตุการณ์เศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่กินระยะเวลาประมาณสิบปี เงินทองเป็นสิ่งหายาก แต่งานการเป็นสิ่งที่หาได้ยากยิ่งกว่า ร้านค้าปิดกิจการ พนักงานถูกเลิกจ้างและขาดรายได้ ซึ่งก็หมายความว่าพวกเขาไม่มีเงินที่จะจับจ่าย จึงยิ่งทำให้ร้านค้าต้องปิดกิจการเยอะกว่าเดิม และพนักงานยิ่งตกงานและขาดรายได้เยอะขึ้นกว่าเดิมอีก
เศรษฐกิจตกอยู่ในสภาวะตึงเครียด บริษัทไม่สามารถทำกำไรได้ และเมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ ราคาหุ้นก็ตกและไม่ขยับไปไหนเลย
นักประวัติศาสตร์ส่วนมากจะบอกคุณว่า การที่เศรษฐกิจตกต่ำในครั้งนั้นไม่ได้เกิดจากตลาดหุ้นที่ล้มลงในปี 1929 แม้ว่ามันจะถูกโยนความผิดให้อยู่เป็นประจำ มีประชาชนเป็นสัดส่วนน้อยมากที่ถือหุ้นอยู่ในช่วงดังกล่าว ดังนั้นคนส่วนใหญ่จึงไม่ได้สูญเสียเงินสักเหรียญไปกับมัน
เศรษฐกิจตกต่ำในครั้งนั้นเป็นผลจากการที่เศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัว ควบคู่ไปกับการที่รัฐบาลบริหารปริมาณเงินผิดพลาดและเพิ่มอัตราดอกเบี้ยผิดเวลา
ก่อนปี 1930 การตกต่ำทางเศรษฐกิจและวิกฤตถือเป็นเรื่องปกติ แต่หลังจากเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ เราก็ยังไม่ประสบเหตุการณ์ที่รุนแรงในระดับเดียวกันอีก
ดังนั้นในช่วงเวลาประมาณ 50 ปีที่ผ่านมา ความเสี่ยงที่เหตุการณ์เศรษฐกิจชะลอตัวในแต่ละครั้งจะกลายมาเป็นเศรษฐกิจตกต่ำถือว่ามีโอกาสเกิดขึ้นได้ยาก ที่จริงแล้วมันไม่เคยเกิดขึ้นเลยตลอดเก้าครั้งที่ผ่านมา
ไม่มีใครสามารถการันตีได้ว่ามันจะไม่เกิดขึ้น แต่ตลอดครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา คุณคงจะต้องเสียพนันถ้าคุณวางเดิมพันไว้ว่ามันจะเกิด
ถ้าคุณอยู่ฝั่งเดียวกับคนที่เห็นว่าเราจะไม่เดินไปสู่ยุคเศรษฐกิจตกต่ำ คุณก็จะผ่อนคลายได้มากขึ้นเวลาที่ตลาดหุ้นเป็นขาลง
ตราบใดที่เศรษฐกิจยังคงขับเคลื่อนไปข้างหน้า บริษัทก็จะยังคงทำเงินได้ ถ้าบริษัทยังคงทำเงินได้ หุ้นของพวกมันก็จะไม่ตกไปเป็นศูนย์ และโดยส่วนมากจะสามารถยืนหยัดได้จนถึงรอบเศรษฐกิจฟื้นตัวในครั้งใหม่ เมื่อนั้นราคาหุ้นก็จะกลับมาเป็นขาขึ้นอีกครั้ง
ประวัติศาสตร์ไม่จำเป็นต้องซ้ำรอย เมื่อใดที่มีคนบอกคุณว่ามันจะเกิดคุณสามารถเตือนพวกเขาได้ว่ามันไม่ได้เกิดมากว่าครึ่งศตวรรษแล้ว
ผู้คนที่ตีตัวออกห่างจากหุ้นเพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดโศกนาฏกรรมอย่างในปี 1929 ได้พลาดโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนที่ควรจะได้จากการถือหุ้น นั่นต่างหากคือโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่
จากหนังสือ เรียนหุ้นกับ ปีเตอร์ ลินซ์
สั่งซื้อหนังสือสอนเล่นหุ้น
จากหนึ่งในนักลงทุนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล
"เรียนหุ้นกับ ปีเตอร์ ลินซ์"
ได้ที่ https://bit.ly/2WXPJcC
ขอบคุณภาพประกอบ
จาก Pinterest
สั่งซื้อหนังสือเล่มอื่นเพิ่มเติมได้ที่
www.INVESTING.in.th
ร้านหนังสือของนักลงทุน
Jan 13, 2021
Jan 13, 2021